ก.อุตฯ ดัน “อุบลฯ” เป็น Bio hub ใช้มันสำปะหลังพัฒนาเป็นอาหารทางการแพทย์ เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบพรุ่งนี้

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวจาก จากการหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 หรืออีสานใต้ (จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอำนาจเจริญ) ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับข้อเสนอจากภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

โดยในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ค.2561) จะนำเรื่องหลักเข้าที่ประชุม ครม. คือ การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Economy) ครบวงจรในพื้นที่อีสานใต้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่ เนื่องจากมีความพร้อมในการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากมันสำปะหลัง ประกอบกับพื้นที่อีสานใต้มีการทำเกษตรกรรมประมาณ 1.8 ล้านไร่ และมีผลผลิตจากสินค้าเกษตรรวมกว่า 4 ล้านตัน ภาคเอกชนจึงขอรับการสนับสนุนให้เป็นพื้นที่นำร่องการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร

“เมื่อ ครม. เห็นชอบในหลักการก็จะเริ่มดำเนินวางกรอบของโครงการร่วมกับหน่วยงานและกระทรวงที่เกี่นวข้องทันที จะทำให้อนาคตเราจะเห็นการพัฒนาด้านพืชเกษตรอย่างมันสำปะหลังไปเป็นแป้งอินทรีย์ ไปเป็นยา และอาหารทางการแพทย์”

นอกจากนี้ ในพื้นที่อีสานตอนล่างดังกล่าวยังจะดำเนินอีก 5 เรื่อง คือ 1.การผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานี เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับอาเซียน และพัฒนาเมืองชายแดน 2.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ในพื้นที่ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ประมาณ 2,303 มูลค่าการพัฒนาโครงการฯ ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับนานาชาติได้ 3.โครงการ E-San Start Up เป็นโมเดลในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ของภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ภาคการค้าและภาคบริการ ให้มีแนวคิดเป็นผู้ประกอบการ 4.0

4.โครงการศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร (Pilot Plant) ซึ่งจะทำงานในรูปแบบเครือข่ายร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่มีโรงงานต้นแบบแปรรูปสินค้าด้านการเกษตร มีบริการทางด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์/ เครื่องดื่ม/ เครื่องสำอาง แต่ยังขาดงบประมาณสำหรับก่อสร้างอาคารแปรรูปเครื่องดื่มและเครื่องสำอาง

5.โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่อีสานใต้ (Science Park) โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) จะร่วมกับศูนย์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุน (Center of Robotics Excellent : CoRE) และมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการในพื้นที่ ในการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการผลิต การจัดการด้านคุณภาพ และการเสริมขีดความสามารถของช่างเทคนิคและวิศวกรในพื้นที่ ให้เรียนรู้เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้และการออกแบบ เครื่องจักรและระบบโปรแกรมควบคุมระบบอัตโนมัติ ที่เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่

นอกจากนี้ นายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ บริษัท อาร์เอสทีโรโบติกส์ จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ ที่ได้รับสินเชื่อจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการนำเครื่องจักรและระบบอัตโนมัตินี้ไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งสามารถขอกู้ได้รายละ 5แสนบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 นอกจากนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา