เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ยังเอาอยู่ น้ำไม่ท่วม “กทม.”-กรมชลฯเร่งพร่องน้ำ

พายุเข้ายังไม่กระทบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหตุ 4 เขื่อนหลัก “ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยฯ-ป่าสักฯ” ยังมีพื้นที่อ่างรับน้ำได้มาก ด้านกรมชลประทานปรับแผนเร่งพร่องน้ำ 4 เขื่อนที่วิกฤตมีน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม แก่งกระจาน-น้ำอูน-วชิราลงกรณ-ขุนด่านปราการชล ให้กระทบพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด จับตาอ่างเก็บน้ำคิรีธาร จันทบุรี น้ำใกล้ล้น เร่งติดตั้งกาลักน้ำช่วย

พายุโซนร้อนเบบินคา (Bebinca) ได้ขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุม สปป.ลาว ภาวะเช่นนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยในภาคเหนือตอนบนและภาคอีสานมีฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักเป็นบางพื้นที่ ในขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศบางแห่งมีระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม แต่ใน

ภาพรวมยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก และยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมถึงกรุงเทพมหานคร

ฝ่ายประมวลวิเคราะห์และสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำรวมกัน 14,719 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่าง ยังมีพื้นที่เหลือรับน้ำได้อีก 10,152 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอยู่ระหว่าง 26-31 ล้าน ลบ.ม./วัน อ่างเก็บน้ำภูมิพล 13-19 ล้าน ลบ.ม./วัน ปริมาณน้ำระบายทั้ง 2 อ่างวันละ 27-30 ล้าน ลบ.ม./วัน ยังไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาตรน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อีก 6 อ่างที่มีปริมาตรน้ำเกินกว่าร้อยละ 80ส่งผลให้กรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเหล่านี้

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (upper rule curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุมีจำนวน 4 แห่ง ได้แก่

1) เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี (ปริมาณน้ำ 737 ล้าน ลบ.ม. หรือ 104% น้ำไหลเข้า 20.77 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบาย 16.02 ล้าน ลบ.ม./วัน) มีน้ำล้นทางระบายน้ำ

(spillway) สูง 49 ซม. แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ จะมีฝนตกมากขึ้น ส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นมากในช่วงสัปดาห์นี้ ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.98 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 160.90 ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่ริม 2 ฝั่งลำน้ำบริเวณ อ.แก่งกระจาน-ท่ายาง-บ้านลาด-อ.เมือง-บ้านแหลมได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำ 16 ล้าน ลบ.ม./วัน โดยการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี

2) เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร (533 ล้าน ลบ.ม. หรือ 103% น้ำไหลเข้า 4.04 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบาย 5.32 ล้าน ลบ.ม./วัน) สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร การบริหารจัดการน้ำเร่งพร่องน้ำ ปริมาณ 5.3 ล้าน ลบ.ม./วัน ให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำเพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน และแจ้งเตือนให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร-บึงกาฬ-นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงครามไหลผ่าน

3) เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี (7,759 ล้าน ลบ.ม. หรือ 88% น้ำไหลเข้า 132.05 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบาย 41.42 ล้าน ลบ.ม./วัน) พื้นที่ท้ายเขื่อนยังไม่ได้รับผลกระทบ การบริหารจัดการน้ำเร่งพร่องน้ำโดยเพิ่มการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนที่เพิ่มขึ้นปริมาณ 41.42 ล้าน ลบ.ม./วัน

โดยให้เท่ากับความสามารถรับน้ำของแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแม่กลอง ทั้งนี้ต้องประสานแจ้งจังหวัดและพื้นที่ให้ทราบ การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ

4) เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก (189 ล้าน ลบ.ม. หรือ 84% น้ำไหลเข้า 9.84 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบาย 3.33 ล้าน ลบ.ม./วัน) การบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำ ในปริมาณ 3.3 ล้าน ลบ.ม./วัน ให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากอิทธิพลของฝนที่ตกเหนือเขื่อนและปรับแผนการระบายให้มีผลกระทบด้านท้ายน้ำน้อยที่สุด

นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่/กลางที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีก 2 แห่งคือ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี (4,884 ล้าน ลบ.ม. หรือ 87% น้ำไหลเข้า 15.41 น้ำระบาย 19.97 ล้าน ลบ.ม.) ให้ปรับแผนการระบายน้ำจากเดิม 20 ล้าน ลบ.ม./วันให้มากขึ้นเต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน โดยประสานจังหวัด และพื้นที่การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ ติดตามสถานการณ์ด้านท้ายน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับเพิ่ม/ลดการระบายให้มีผลกระทบด้านท้ายน้ำน้อยที่สุด

อ่างเก็บน้ำคิรีธาร จ.จันทบุรี (74 ล้าน ลบ.ม.หรือ 97% น้ำระบาย 0.66 ล้าน ลบ.ม./วัน ระดับน้ำ 204.8 ม.รทก.) การบริหารจัดการน้ำได้ติดตั้งกาลักน้ำจำนวน 30 ชุด มีการประสานขอเพิ่มจำนวนกาลักน้ำเพื่อเร่งระบายแล้ว

สถานการณ์น้ำท่วมอีสาน

1)จังหวัดยโสธร ประสบภัยน้ำท่วม 7 อำเภอ (อ.เมือง-คำเขื่อนแก้ว-ค้อวัง-มหาชัย-ป่าติ้ว-เลิงนกทา-กุดชุม) คิดเป็นพื้นที่ 89,443 ไร่ ลุ่มน้ำลำเซบาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ลุ่มน้ำชีลดลง 2) อำนาจเจริญ ประสบภัยน้ำท่วม 4 อำเภอ (อ.เมือง-เสนางคนิคม-หัวตะพาน-ชานุมาน) รวมพื้นที่ 12,028 ไร่ 3) กาฬสินธุ์ เขื่อนลำปาวระบายน้ำเพิ่มขึ้นได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ (อ.เมือง-กมลาไสย-ห้องชัย-ยางตลาด) 4) อุบลราชธานี มี พท.ริมน้ำโขงได้รับผลกระทบน้ำท่วมที่ อ.เขื่อนใน พท.ประสบอุทกภัย 14,240 ไร่

5)นครพนม พท.น้ำท่วม 10 อำเภอ (อ.เมือง-ศรีสงคราม-นาหว้า-นาทม-ปลาปาก-วังยาง-ธาตุพนม-เรณูนคร-นาแก) พท.ได้รับผลกระทบ 121,410 ไร่ 6) สกลนคร ประสบภัยน้ำท่วม 5 อำเภอ (อ.เมือง-โคกศรีสุพรรณ-โพนนาแก้ว-พรรณานิคม-คำตากล้า) พท.รวม 8,418 ไร่ และ 7) บึงกาฬ พท.ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ (อ.เมือง-บุ่งคล้า-ศรีวิไล-โซ่พิสัย-ปากคาด) พท.รวม 14,112 ไร่