เตรียมตัวรับมือ! พาณิชย์-เกษตรฯ ตั้งรับ”ข้าวโพด” ทะลัก4.5ล้านตัน

พาณิชย์รับมือผลผลิตปี60/61 ออกปลายเดือนนี้ สั่งพ่อค้าคนกลางแจ้งปริมาณ-สถานที่เก็บ-ราคาซื้อ พร้อมขอโรงงานอาหารสัตว์เปิดจุดรับซื้อ ด้านเกษตรฯเร่งเครื่องยุทธศาสตร์ปลูกข้าวโพดหลังนา 3 ปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์ราคา และการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2560/2561 ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตปริมาณ 4.50 ล้านตัน และมีความต้องการใช้ 8.10 ล้านตัน ไม่เพียงพอ จึงมีการนำเข้าข้าวสาลี และการนำเข้ากากข้าวสาลี (DDGS) มาใช้เป็นวัตถุดิบ

ทั้งนี้ กรมได้ขอความร่วมมือให้พ่อค้าคนกลางที่ถือครองข้าวโพดตั้งแต่ 50 ตันขึ้นไปแจ้งปริมาณ สถานที่จัดเก็บ และราคารับซื้อต่อกรม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้โรงงานอาหารสัตว์เปิดจุดรับซื้อข้าวโพดอบแห้ง ความชื้น 14.5% ราคา กก.ละ 8 บาท เพื่อป้องกันปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

วันเดียวกันนี้ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ว่า โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน (แบบแปลงใหญ่) ลดการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร (ฤดูฝน) ประจำปี 2560/2561 ภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปี วงเงินงบประมาณ 7,723.8 ล้านบาท ล่าสุดอยู่ระหว่างขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง โดยกรมเสนอเพิ่มเติมให้กำหนดพื้นที่ข้าวโพดสัดส่วนเต็ม

เป้าหมาย 3.36 ล้านไร่ และให้ลดพื้นที่ปลูกเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ ประมาณ 1 ล้านกว่าไร่ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งตรวจสอบพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมอีกครั้ง

ยอมรับว่าโครงการประชารัฐข้าวโพดหลังนา อาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แม้ว่าเกษตรกรจะมีตลาดจำหน่ายผลผลิตชัดเจน แต่ข้อเสียเกษตรกรต้องใช้เมล็ดพันธุ์บริษัทที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ซึ่งหลายพื้นที่ไม่ต้องการใช้พันธุ์ของบริษัทเหล่านี้จึงไม่เข้าร่วมโครงการ ขอเน้นย้ำว่าโครงการนี้ไม่ใช่มาตรการบังคับ เกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมจะช่วยเหลือรูปแบบอื่น รวมถึงเอกชนที่เป็นสมาชิกและไม่ใช่สมาชิก ขอความร่วมมือไม่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ

“พื้นที่ 3.36 ล้านไร่ ภายใน 35 จังหวัดเป้าหมาย ทุกสมาคมเห็นชอบ แต่มีปัญหาการรับซื้อคืน ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องการซื้อคืนเฉพาะเกษตรกรที่ใช้เมล็ดพันธุ์จากบริษัทเท่านั้น ซึ่งกระทบกับสมาคมพืชไร่ ที่เป็นพ่อค้าคนกลาง และเกษตรกรในบางพื้นที่ไม่ต้องการใช้เมล็ดพันธุ์จากบริษัท ส่วนสมาคมเมล็ดพันธุ์พร้อมขายเมล็ดพันธุ์ให้แต่ไม่ยอมรับซื้อคืน จึงยังไม่มีข้อสรุป กรมเสนอเพิ่ม 2 แนวทางต่อ สศช. คาดว่าจะไฟเขียวเร็ว ๆ นี้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ทบทวนแนวทางการปลูกข้าวโพดประชารัฐอีกครั้ง โดยแยกเงื่อนไขเป็น 2 ส่วน คือ 1.เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการประชารัฐ ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมจะขายเมล็ดพันธุ์ และจะรับซื้อผลผลิตคืน และ 2.เกษตรกรที่ไม่สนใจซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัท แต่ต้องการปลูกข้าวโพดในโครงการประชารัฐ ในส่วนนี้รัฐบาลต้องหาตลาดเตรียมไว้ ในราคา 8 บาท/กก. ทั้งนี้ ตามแผนเดิมโครงการการปลูกข้าวโพดหลังนาประชารัฐ 2560/2561 จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือน ก.ค.เพื่อปลูกให้ครอปปีและเก็บเกี่ยวในเดือน มี.ค. 2560 จึงต้องล่าช้าออกไป

สำหรับกรมวิชาการเกษตรได้กำชับการดำเนินการ 2 มาตรการหลัก คือ 1) จะเชิญบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ใช่สมาชิกของสมาคม 116 บริษัท มาทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการไม่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกรในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 2) ใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ (พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 และ 2535) ได้แก่ 1.ตรวจจับร้านค้า และผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตรวบรวม และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์อย่างเข้มงวด และ 2.ทบทวน แก้ไขกฎหมาย อายุการต่อใบอนุญาตของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 60 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงนาม MOU โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืนฯ ร่วมกับบริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ โดยมีเป้าหมายพื้นที่ 7 หมื่นไร่ รับซื้อราคาสูงกว่าตลาด และต้องเป็นพื้นที่เฉพาะที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น