หมูเบทาโกรรุกตลาดส่งออกเข้า “ปาร์ก&ช็อป” ฮ่องกง

เบทาโกรรุกส่งออกหมูเปิดดีลร่วมทุนโรงงานตัดแต่งเจาะตลาดไฮโซฮ่องกง nonHalal ตะวันออกกลาง พร้อมเดินหน้าขยายตลาด S-Pure ครองแท่นเบอร์ 1 สินค้าอาหารสดพรีเมี่ยม จับมือพันธมิตรโมเดิร์นเทรด-ฟู้ดเชน-ฟู้ดเซอร์วิส เพิ่มสัดส่วน “อาหารพร้อมทาน-พร้อมปรุง” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทเริ่มขยายตลาดเนื้อหมูแบรนด์ “เบทาโกร” ไปฮ่องกงเพิ่มขึ้น โดยเริ่มคุยร่วมกับพันธมิตรในฮ่องกง เพื่อลงทุนตั้งโรงงานตัดแต่งหมูแช่เย็นแช่แข็งและนำไปจัดจำหน่ายในห้างค้าปลีกระดับพรีเมี่ยม เช่น ปาร์กแอนด์ช็อป การเจรจาร่วมลงทุนครั้งนี้จะให้ผลดีกว่าการใช้ระบบขนส่งทางอากาศ ซึ่งมีต้นทุนสูงและยังมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ด้วย

“การเปิดตลาดหมูเบทาโกรจะทำให้รายได้ส่วนของหมูดีขึ้น เพราะจะเรียกว่าเป็นตลาดเฉพาะ (niche market) อยู่ แม้แต่เราเชื่อว่าตลาดฮ่องกงมีศักยภาพ มีสัดส่วนไม่ถึง 1% แต่เป็น 1% ที่ดีมาก แต่ก็ปล่อยมันโตเหมือนกับ S-Pure ซึ่งได้ทำตลาดไปก่อนหน้านี้มาเป็น 10 ปีแล้วก็ปล่อยมันโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ถือว่าดี แต่ในส่วนของเบทาโกรอาจจะโตเยอะ”

ส่วนโอกาสจะเชื่อมต่อจากฮ่องกงไปจีนยังต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เพราะแม้ว่าตลาดจีนจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพ แต่การส่งผ่านฮ่องกงซึ่งถือเป็นเกตเวย์ของหมูทั่วโลก ทั้งจากสหภาพยุโรป สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ยังถือว่าเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ จะมีการขยายแบรนด์ S-Pure ไปยังตลาดไม่ใช่สินค้าฮาลาล (nonHalal) ของประเทศตะวันออกกลาง เพราะแม้ว่าจะเป็นประเทศที่เป็นอิสลามแต่ในประเทศนี้มีคนทำงานต่างชาติ เช่น กลุ่มข้าราชการ นักการทูต คนทำงาน พนังงานบริษัทต่างชาติเข้าไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ตนี้จะมีการจัดห้องเฉพาะเพื่อจำหน่ายสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าฮาลาล (nonHalal) เช่น ไส้กรอก หมูแฮม ซาลามี เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกำลังการเชือดหมู 6,000 ตัวต่อวัน โดยส่วนใหญ่จะนำมาจำหน่ายตลาดในประเทศ และมีการส่งออกแต่สัดส่วนไม่มาก ซึ่งหากเทียบกับการส่งออกรวมของประเทศประมาณ 20,000 ตัน เป็นหมูของเบทาโกรสัดส่วน 60% ของยอดการส่งออกหมูทั้งหมด โดยตลาดส่งออกหลัก คือ ฮ่องกง มีทั้งหมูสดและผลิตภัณฑ์ปรุงสุก นอกจากนี้ มีตลาดญี่ปุ่นซึ่งส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์หมูปรุงสุก และไส้กรอก สิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์หมูปรุงสุก

นางประถิมา อุเทนพิทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร เครือเบทาโกร เปิดเผยว่า ขณะนี้เบทาโกรเร่งขยายตลาดผลิตภัณฑ์หมู ไก่ ไข่ S-Pure ซึ่งเป็นแบรนด์ซูเปอร์พรีเมี่ยมที่ไม่ใช้สารปฏิชีวนะในการเลี้ยง จนได้รับการรับรองจาก NSF เพื่อเจาะกลุ่มตลาดอาหารสดพรีเมี่ยม

โดยวางกลยุทธ์มุ่งพัฒนาแบรนด์และเข้าไปให้ความรู้กับผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการยอมรับ พร้อมทั้งขยายช่องทางจำหน่ายจากเดิมที่มุ่งเน้นไปยังห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกชั้นนำ ก็ได้ร่วมกับพันธมิตรในการขยายช่องทางการตลาดไปยังกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการอาหาร และร้านอาหารประเภทฟู้ดเชน เช่น ร้านอาหาร โรงแรม แคเทอริ่ง โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานออกกำลังกาย โดยมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มยอดขายสินค้ากลุ่มนี้อีก 50% ในปีหน้า จากปกติกลุ่มนี้จะขยายตัวเฉลี่ย 30%

ทั้งนี้ ปัจจุบันรายได้ในส่วนเอส-เพียวคิดเป็นสัดส่วน 10-15% จากภาพรวมรายได้กลุ่มอาหารของเบทาโกร ซึ่งในอนาคตมุ่งเป้าจะเพิ่มเป็น 30% ให้ได้ โดยบริษัทมีแผนจะขยายสัดส่วนตลาดสำหรับสินค้าอาหารแปรรูป อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทาน โดยการส่งวัตถุดิบคุณภาพดีให้กับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหาร การพัฒนาแพ็กเกจจิ้ง S-Pure smart pack เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงรักษาช่องทางการตลาดเดิม โดยมีแผนจะเพิ่มจำนวนร้านเบทาโกร จากปัจจุบันที่มี 180 ให้เป็น 200 สาขาในอีก 3-4 ปีข้างหน้า

สำหรับมูลค่าตลาดสินค้าอาหารสดพรีเมี่ยมปัจจุบันสูงถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งทางเบทาโกรมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 30% หรือประมาณ 900 ล้านบาท ถือเป็นผู้นำในตลาดพรีเมี่ยม โดยแบ่งเป็นไก่ 80-90% ไข่ 50-60% และหมู 20%นอกจากนี้บริษัทยังขยายช่องทางการขายส่ง และขายปลีกในประเทศ บาห์เรน กาตาร์ สเปน และโรมาเนีย

นางประถิมากล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันในธุรกิจอาหารพรีเมี่ยมมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น มีผู้เล่นหลายรายเข้ามาในตลาดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทางเบทาโกรจึงเน้นการพัฒนาแบรนด์สร้างการรับรู้ ควบคู่กับการให้ความรู้ผู้บริโภค และการกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภค ส่วนช่องทางการขายมีทั้งรีเทลและคอนไซเมนต์ ซึ่งในส่วนนี้เรามุ่งเน้นที่จะเลือกวัตถุดิบที่เหมาะสมให้กับลูกค้านำในไปใช้ผลิตอาหาร โดยดูว่าลูกค้ามีความต้องการอย่างไร

สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและค่าขนส่งนั้น ยอมรับว่าจะต้องมีการบริหารจัดการ เพราะธุรกิจอาหารสดมีสัดส่วนมาร์จิ้นไม่มาก จำเป็นต้องบริหารจัดการการขนส่ง และการกระจายสินค้าในประเทศซึ่งมีร้านเบทาโกร เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์

ทั้งนี้ ปัจจุบันเบทาโกรยังคงเดินหน้าตามแผนปี 2553-2563 เพื่อผลักดันยอดขายให้ได้ 100,000 ล้านบาท โดยคาดว่าในปี 2561 จะมีรายได้ราว 90,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจอาหาร 70% และอุตสาหกรรมเกษตรอีก 30%