เหล็กนอกจากจีนทะลักเข้าไทย ผลสงครามการค้าทำราคาตลาดตกหนัก

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนพ่นพิษ ส.ค. 61 เหล็กนอกทะลัก 31% เหล็กเคลือบ-ท่อเหล็ก “SSI” ชี้ราคาโลกลง 4% แต่หลังจากนี้ทิศทางขาขึ้นตามราคาน้ำมัน ด้านสถาบันเหล็กฯจี้รัฐเข้มสกัดเหล็กจีน พาณิชย์มั่นใจร่างแก้ไขกฎหมายเอดีทันเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากสหรัฐใช้มาตรการสงครามการค้าปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กจากจีน 25% เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาเหล็กทั่วโลกปรับตัวลดลง และมีการนำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในเดือนสิงหาคม 2561 มีการนำเข้าเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์มูลค่า 1,355 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 31.6% ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) 2561 มูลค่า 8,953 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.3% โดยจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทผู้นำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้นมาก (ตามตาราง)

ประเด็นดังกล่าวส่งผลเชื่อมโยงต่อราคาเหล็กในประเทศ ซึ่งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าระบุว่า ดัชนีวัสดุก่อสร้าง เดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 108.9% ปรับตัวลดลง 0.3% จากเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง 1.1% ทั้งเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กรางน้ำ และท่อเหล็กเคลือบสังกะสี

นายนาวา จันทนสุรคน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม สำนักรัฐกิจสัมพันธ์กลุ่มผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI เปิดเผยว่า ทิศทางราคาเหล็กเมื่อเดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลงทั่วโลก ส่งผลให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 21% แต่ในเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นเพียง 3-4% เท่านั้น

เนื่องจากไทยไม่มีโรงงานถลุงเหล็กจึงต้องนำเข้าเหล็กแท่งแบน (slab) เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็ก โดยแหล่งนำเข้าสำคัญมีทั้งญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย เวียดนาม และไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งในส่วนของสหวิริยาฯ มีการนำเข้า slab ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับปีก่อนเท่านั้น

“ราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง 2-4% แล้วแต่ประเภทของเหล็ก แต่คงไม่มีโอกาสเห็นราคาเหล็กตกลงแบบถล่มทลายแบบ 3-5 ปีก่อน เพราะไม่ได้โอเวอร์ซัพพลายเหมือนช่วงที่จีนส่งออก 100 ล้านตันต่อปี อีกด้านหนึ่งแนวโน้มที่ราคาเหล็กอาจปรับตัวสูงขึ้นหลังจากนี้ ตามต้นทุนพลังงาน ซึ่งทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

แหล่งข่าวจากวงการเหล็กกล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าหากพิจารณาการนำเข้ารายเซ็กเมนต์จะพบว่า บางเซ็กเมนต์มีการนำเข้าสูงมาก เช่น เหล็กเคลือบสังกะสีด้วยกรรมวิธีจุ่มร้อนจากจีน ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) นำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 265,000 เป็น 400,000 ตัน ซึ่งกลุ่มนี้เคยมีการยื่นฟ้องเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) แต่คณะกรรมการพิจารณาว่าไม่ได้มีความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน และสินค้าท่อเหล็กนำเข้าเพิ่มจาก 374,000 ตัน เป็น 500,000 ตันจากเวียดนาม ซึ่งกลุ่มนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดี

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐส่งผลให้ไทยเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น 2 เรื่อง คือ การรายงานข้อมูลทางสถิตินำเข้าส่งออกของโลกและอาเซียนของสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าจีน (CISA) หายไปตั้งแต่เดือน มี.ค. 2561 จีนได้ใช้วิธีการคืนภาษีประมาณ 10% ให้สินค้าที่ทำจากเหล็ก เช่น เหล็กสำเร็จรูป เหล็กโครงสร้าง นอต ตะปู เป็นต้น เหล็กสำเร็จรูปเหล่านี้จึงทะลักเข้ามาไทยเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบตามมาในอีก 2-3 เดือนนี้ อย่างการสั่งซื้อเหล็กในประเทศจะลดลงเพราะถูกเหล็กจีนเข้ามาแข่งราคา

“สิ่งที่เอกชนต้องการระยะสั้นขอให้รัฐบาลเร่งกระบวนการที่เป็นมาตรการรับมือและป้องกันทุกอย่างออกมาใช้ เพราะรัฐมีแผนทั้งหมดแล้ว เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ในส่วนของภาคเอกชนเองต้องเร่งปรับตัวเช่นกัน ซึ่งระยะกลางเราก็มีคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างของ ส.อ.ท.ที่กำลังทำข้อมูลดิจิทัลสินค้าแคตาล็อกที่ผลิตในประเทศ ผู้ใช้สามารถดึงข้อมูลไปใช้ในการวางงานออกแบบได้ทันที ในระบบจะให้ข้อมูลว่ามีบริษัทผลิตเหล็กรายใดบ้าง ราคาเท่าไร ประเภทเหล็กเหมาะกับงานก่อสร้างแบบไหน คุณภาพเหล็กที่มีมาตรฐานเท่านั้นจึงจะถูกนำเข้ามาอยู่ในระบบดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้วางแผนงานก่อสร้างได้ง่าย และสกัดการซื้อเหล็กจากจีนได้เช่นกัน เอกชนก็ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก และช่วยเหลือตัวเองไปโดยไม่ใช่รอรัฐเพียงอย่างเดียว”

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กไตรมาส 4 คาดว่าจะยังขยายตัว 1.52% โดยมีปัจจัยบวกจากการเลือกตั้ง ดีมานด์จากยอดขายรถยนต์ที่ยังพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ราคาเหล็กในประเทศปัจจุบันยังคงบวกลบอยู่ที่ 18-20 บาท/กก. เพราะยังมีสต๊อกเก่าอยู่จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 คาดการณ์จะมีการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็กค่อนข้างมาก เช่น อาจเห็นทุนจีนเข้าซื้อกิจการในไทยที่ไม่มีกำไร

นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นทิศทางการส่งออกเหล็กของจีนไปต่างประเทศปรับตัวลดลง (มิ.ย-ก.ย.61) โดยเฉพาะเหล็กเคลือบลดลงถึง 7.6% เหล็กรีดเย็นลดลง 4.6% เหล็กรีดร้อนลดลง 5.5% และมีแนวโน้มลงลงต่อเนื่อง ทำให้เกิดการส่งสินค้าเข้ามาแข่งขันในไทย บวกกับไทยเองก็นำเข้าเหล็กจากจีนจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นจึงส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศไทยปรับตัวลดลงแน่นอนและจะลากยาวไปถึงปีหน้า

“เรายังประเมินราคาเหล็กในประเทศไม่ได้ว่าจะตกลงเหลือราคาเท่าไร แต่ตอนนี้ตกแล้วแน่ ๆ 100% ถ้าทะลักเข้ามามากอาจถึงขั้นขายต่ำกว่าต้นทุนก็ได้”

ด้านนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน พ.ศ. 2522 เพื่อป้องกันการเจือปนสารที่เป็นส่วนผสมอื่น ๆ แล้วนำมาใช้หลบเลี่ยงอากรเอดี (Anti Circumvention) ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะผ่านร่างแก้ไขฯได้ทันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแน่นอน