“อุตตม” รับปากช่วยชาวไร่อ้อยทั้งระยะสั้น-ยาว ดันสู่ไบโอชีวภาพให้ได้ ชี้เป็นแนวทางช่วยราคาสินค้าเกษตรตกระยะยาว

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา “ก้าวต่อไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย” ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้จะเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าในตลาดโลกตกต่ำ นำมาซึ่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการนอกจากการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตในไร่อ้อยของเกษตรกรแล้ว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากอ้อยรวมถึงของเหลือทิ้งจากขบวนการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ด้วยขบวนการผลิตทางชีวภาพ (Bio-Based Process)
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ที่ได้เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 โดยมีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 โดยเน้นผลิตภัณฑ์เป้าหมายทั้งพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคน ต่อปีอีกด้วย

และช่วงเปลี่ยนผ่านระบบใหม่ที่นำไปสู่การค้าแบบเสรี ภาครัฐเองไม่ได้นิ่งนอนใจกับช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ซึ่งช่วงระยะเวลา 2 ปี (ฤดูการผลิตปี 2560/61 และ 2561/62) กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เร่งรัดและดำเนินการ อาทิ การปรับแก้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล เพื่อให้สามารถนำอ้อยไปผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อการเพิ่มมูลค่าแก่ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย และเพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้พัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ภาค (จังหวัดชลบุรี, กาญจนบุรี,กำแพงเพชร และอุดรธานี) ให้พร้อมสู่การเป็นศูนย์แห่งการวิจัย ขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องมือของห้องปฏิบัติการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามความชำนาญของแต่ละศูนย์

Advertisment

อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (Thailand Sugarcane Breeding Center: TSBC) ขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการปรับปรุงพันธุ์อ้อย พร้อมขยายผลบทบาทภาระหน้าที่ของศูนย์ TSBC ให้เป็นศูนย์กลางการปรับปรุงพันธุ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำต่อเนื่องมากว่า 2 ปี ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจาก
ทั้งด้านราคาที่ตกต่ำและระบบใหม่ ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงหรือพยุงราคาได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการผลิตที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนโดยเร็ว

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยเน้นอุตสาหกรรมชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำที่สำคัญแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในด้านอื่นๆ ด้วย

โดยล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยด้านปัจจัยการผลิตที่จำเป็น โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเป็นคู่สัญญากับโรงงานหรือมีการส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ตามจำนวนตันอ้อยที่เกษตรกรได้ส่งให้กับโรงงานคู่สัญญาหรือหัวหน้ากลุ่ม โดยในเบื้องต้นกำหนดความช่วยเหลืออยู่ที่ไม่เกิน 50 บาท/ตันอ้อย แต่จะมีการกำหนดปริมาณตันอ้อยสูงสุดที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ ไม่เกินรายละ 5,000 ตันอ้อย รวมจำนวน 6,500 ล้านบาท

Advertisment

ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการผลิตที่จำเป็น และมีผลตอบแทนเพียงพอ สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาโรคและแมลงศัตรูอ้อยต่าง ๆ รวมทั้งด้านการเพาะปลูกและบำรุงรักษาอ้อย รวมถึงการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งจะก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม

อีกทั้งยังช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ จนกว่าระบบใหม่จะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิต (Input Subsidies) ถือเป็นการอุดหนุนภายในที่ยกเว้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถสนับสนุนการพัฒนาทางการเกษตรของตน ผ่านมาตรการให้ความช่วยเหลือของรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรและชนบท การอุดหนุนการลงทุน และการอุดหนุนเรื่องปัจจัยการผลิต

ซึ่งต้องให้เป็นการทั่วไปแก่ผู้ผลิตที่มีรายได้ต่ำ และเข้าถึงปัจจัยการผลิตได้ยาก รวมถึงผู้ผลิตที่มีทรัพยากรไม่สมบูรณ์ โดยภาครัฐสามารถดำเนินการได้

ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถพัฒนาและแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงด้วยแรงสามัคคีจากทุกภาคส่วน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้กำหนดจัดเสวนาพิเศษ เรื่อง “ก้าวต่อไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย” ในวันนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0

และเพื่อให้ทุกท่านได้มีโอกาสรับทราบสถานการณ์ที่แท้จริง ทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างชัดเจน รวมถึงการดำเนินการภายใต้แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และภาครัฐ ร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในอนาคต”