แก้ปม “ราคาปาล์ม” ป่วน ส.ผู้ผลิตไบโอดีเซลชี้ยาก

พลังงาน-พาณิชย์ แก้ราคาปาล์มดิ่ง ดึงเงินงบฯกลาง 525 ล้านบาทชดเชยส่งออก CPO – ผลิตไฟฟ้า พร้อมเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซล 6.8% ดีเดย์ 8 พ.ย.นี้ หนุน ขสมก.-บขส.ใช้ B20 คาดระบายสต๊อกได้ 1.9 ล้านตัน ด้าน ส.ผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยชี้ CPO ผลิตไฟฟ้าทำยาก-ต้องใช้เวลา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์การแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอมาตรการกระตุ้นการส่งออกโดยเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณกลาง 525 ล้านบาท มาชดเชยเพื่อผลักดันการส่งออกช่วยปรับสมดุลสต๊อกน้ำมันปาล์มที่มี 3.8 แสนตัน ให้เข้าสู่ปกติโดยเร็ว

ล่าสุดนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2561 พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาปาล์มโดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตันมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าราชบุรีและบางปะกง เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ที่ทางคณะกรรมการมีมติให้เพิ่มส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจาก 6.6% เป็น 6.8% ในระยะแรก เพื่อดูดซับ CPO เพิ่มขึ้นอีก 80,000 ตัน/ปี และมาตรการสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B20 ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ขสมก. และ บขส.ในเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้จาก 7 เป็น 20 ล้านลิตร/เดือนไปแล้ว

“หากดำเนินการตามแผนงานช่วยดูดซับ CPO รวม 1.9 ล้านตัน/ปี โดยเป็นการนำไปผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 1.3 ล้านตัน/ปี และในน้ำมันดีเซล B20 เพิ่มขึ้นอีก 0.6 ล้านตัน/ปี ส่วนการผลิตไฟฟ้านั้นทาง กฟผ.กำลังปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้พร้อมดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท จากการรับซื้อ CPO โดยตรงกับผู้ผลิต ซึ่งขณะนี้มีราคา กก.ละ 18-19 บาท แต่ก็จะไม่มีการผลักภาระไปยังค่าไฟฟ้ากับประชาชน (ค่า Ft) เนื่องจากรัฐบาลจะนำเงินมาจากงบฯกลาง 525 ล้านบาทมาชดเชย ส่วนอีก 500 ล้านบาท จะเกลี่ยจากค่าสายส่งที่ กฟผ.จะเป็นผู้รับผิดชอบรับภาระไป”

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย เปิดเผยว่า มาตรการเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วนั้น เป็นมาตรการที่ดี หากทำได้จะช่วยดูดซับ CPO ออกไปจากระบบได้อีกส่วนหนึ่ง สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ได้แน่นอน แต่เนื่องจากว่าผู้ผลิตสำคัญคีย์หลักของมาตรการนี้ คือ ปิโตรเลียม เข้าใจว่าเบื้องต้นภาครัฐได้หารือกันแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องใช้เวลาเพราะเป็นเรื่องใหม่

ส่วนมาตรการผลักดันให้นำ CPO ไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า 160,000 ตันต่อปีนั้น ต้องอย่าลืมว่าโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติ การที่รัฐพยายามผลักดันให้ใช้น้ำมันเตา ซึ่งเคยพยายามใช้ในโรงไฟฟ้ากระบี่มาแล้วก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ถึงเป็นมาตรการที่ดีแต่ถือว่าค่อนข้างไปได้ยาก ตอนนี้ผมคิดว่ารัฐพยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทาง แต่ทั้งหมดต้องอาศัยระยะเวลา ประกอบกับช่วงนี้ต้องดูราคาตลาดโลกที่อาจจะผันผวนด้วย