“บิ๊กตู่” เคาะมาตรการ “ยาง-ปาล์ม” เห็นใจเกษตรกร ปัดแจกหวังผลการเมือง

ภาพมติชน

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 เวลา 14.00 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง สวนปาล์ม มะพร้าว โดยมีการช่วยเหลือเกษตรกรหลายรูปแบบ เช่น ปาล์ม จะมีการรับซื้อน้ำมันปาล์ม 18 บาทต่อกิโลกรัม ประมาณ 1.6 แสนตัน นำไปผลิตไฟฟ้า จะซื้อจากลานเท โรงสะกัดน้ำมันปาล์มเพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์โดยตรง ส่วนมาตรการระยะยาวคือการเพิ่มการใช้น้ำมัน B20 มีเป้าหมายการใช้เพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนตัน

ในส่วนของยางประเทศไทยมีการผลิตยางถึง 4.6 ล้านตัน เราใช้ในประเทศไม่เกิน 7 แสนตัน ซึ่งขณะนี้ใช้ยางในประเทศไปแล้ว 6 แสนตัน ยังเหลืออีก 4 ล้านตันที่ต้องไปขายต่างประเทศ สรุปแล้วเรามียางมากกว่าประเทศอื่นในโลกใบนี้ ดังนั้น ราคายางขึ้นอยู่กับปริมาณยางในประเทศด้วย การลดพื้นที่ปลูกยาง หรือการแก้ปัญหาการปลูกยางในพื้นที่บุกรุกก็ยังเป็นปัญหากับประชาชนส่วนใหญ่

รัฐบาลจึงดูแลได้ในส่วนที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อน โดยรัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือไม่เกิน 15 ไร่ และเพิ่มการใช้ยางในประเทศ แต่ต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการยางธรรมชาติก่อน อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้ยางในประเทศ ถ้าต้นทุนสูงขึ้นสินค้าที่ผลิตจากยางก็ต้องแพงขึ้น ดังนั้น ส่วนแรกต้องมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และส่วนที่สองรัฐบาลต้องดูแลผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ส่วนมะพร้าวมีกระทรวงพาณิชย์เสนอมาตรการมาเช่นกัน พร้อมทั้งสั่งการให้ด่านตรวจทุกด่าน จุดตรวจทุกจุดของทุกหน่วยงานบูรณางานร่วมกันในการแก้ปัญหาการลักลอบสินค้าเกษตรเข้ามาในประเทศไทย จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ในการจับกุม ทั้งนี้ ต้องใช้มาตรการความมั่นคงเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เรื่องการประท้วงของเกษตรกรเราเข้าใจว่ามีปัญหาเรื่องนี้ จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมากพอสมควร นอกจากนี้ ยังมีมาตรการผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีเพิ่มเติมในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ดูแลเรื่องค่าน้ำค่าไฟเพิ่มขึ้น จะมีโครงการบ้านล้านหลังที่มีการผ่อนชำระอัตราที่ต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ จะทยอยดำเนินการไปเรื่อยๆ

แต่วันนี้อาจจะช่วยคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้แล้ว เพราะมีเงินเท่านี้ต้องหมุนเวียนเงินที่มีอยู่ให้เหมาะสม ถ้าให้เงินทีเดียวหมดแม้จะถูกใจประชาชน แต่รัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้สิน และระเบียบการใช้จ่ายของรัฐบาลก็ออกมาใหม่ทั้งหมด การใช้จ่ายของรัฐบาลจะต้องอยู่ในกรอบ

“วันนี้ไม่อยากให้สื่อเขียนว่ารัฐบาลนี้กำลังแจกๆ เพื่อการเมือง เพราะทุกอย่างกว่าจะออกมาได้ต้องดูกฎหมาย ดูวิธีการงบประมาณที่มีอยู่ จึงทยอยออกมาตามลำดับ เราพยายามเร่งสปีดให้เต็มที่และมาออกในช่วงนี้ อย่ามองว่าเป็นเรื่องการเมืองไปทั้งหมด วันข้างหน้ารัฐบาลใหม่มาก็น่าจะต้องทำต่อเนื่อง เพราะหลายโครงการผมก็ทำต่อเนื่องของเขา บางเรื่องดี แต่ดีไม่หมดก็ต้องแก้ไขให้พัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องสาธารณสุข การศึกษา จะให้แต่ละกระทรวงมาชี้แจงเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อให้คนแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบว่ารัฐบาลทำอะไรให้บ้าง“ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว