อวนลากเถื่อนทุบประมงพื้นบ้าน “ชาวสวนยาง-ปาล์ม” เลิกอาชีพโดดแจม

แฟ้มภาพ

ประมงพื้นบ้านวิกฤตหนัก ชาวประมงแห่ใช้อวนลากที่เป็นเครื่องมือจับปลาผิดกฎหมาย เฉพาะสตูลจังหวัดเดียว 200 กว่าลำ จี้ทางการตรวจสอบเข้มงวดพร้อมเพิ่มบทลงโทษ ขณะที่ชาวสวนยาง-ปาล์มน้ำมัน เลิกอาชีพ หันไปทำประมงพื้นบ้าน

นายทวีศักดิ์ หวังสบู ชาวประมงพื้นบ้านและอดีตประธานองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์การทำประมงในพื้นที่ จ.สตูล ช่วงนี้ว่า การทำประมงในเขตประมงพื้นบ้านหรือพื้นที่อนุรักษ์ในสตูลและอีกหลายจังหวัดชายทะเลกำลังเกิดวิกฤต เนื่องจากชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือไม่เกิน 10 ตันกรอส

ได้ใช้เครื่องมือทำลายล้างในการจับปลามากขึ้น โดยเฉพาะการใช้อวนลากขนาด 4 คูณ 4 หรือ 5 คูณ 5 เมตร ลักลอบจับปลาในช่วงกลางคืนตลอดทั้งคืน ซึ่งสามารถจับปลามีรายได้ได้ถึงวันละ 2-3 หมื่นบาท ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ที่ใช้เครื่องมือจับปลาตามกฎหมายจะจับได้เพียงวันละประมาณ 500-1,500 บาท ซึ่งรายได้ที่มากกว่าปกติ ทำให้ขณะนี้ในสตูลเพียงจังหวัดเดียวมีเรืออวนลากผิดกฎหมายมากกว่า 200 ลำ จึงน่าเป็นห่วงว่า ในอนาคตอันใกล้ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งจะวิกฤตหนัก

“อยากจะให้เจ้าหน้าที่กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจสอบจับกุมอย่างเข้มงวด รวมทั้งออกกฎหมายมาดำเนินการลงโทษให้หนักขึ้น ซึ่งช่วง พ.ย.-เม.ย.ของทุกปี ฝั่งทะเลอันดามันปลอดมรสุม เรือประมงพื้นบ้านกลายพันธุ์เหล่านี้จะออกลักลอบจับปลาโดยไม่เปิดไฟส่องสว่างกันจำนวนมาก เป็นการทำลายแหล่งทำกินกันเอง ปลาทรายที่เคยจับได้วันละ 20-100 กก. เดี๋ยวนี้จับได้เพียงวันละ 5-10 กก.เท่านั้น ในขณะที่เรือประมงพาณิชย์ตั้งแต่มีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และกฎหมายอีกหลายฉบับที่มีบทลงโทษรุนแรง แทบจะไม่มีการล่วงล้ำเข้ามาในเขตการทำประมงพื้นบ้าน”

ส่วนเรือประมงพื้นบ้านที่มาขึ้นทะเบียนเรือประมงกับหน่วยงานรัฐใน จ.สตูลนั้น มีประมาณ 5,000 ลำ และไม่มาขึ้นทะเบียนอีกไม่ต่ำกว่า 5,000 ลำ ส่วนใหญ่ที่ไม่ขึ้นทะเบียน เพราะซื้อขายโดยไม่มีเอกสารมาก่อนหน้านี้ ดังนั้น หากจะขึ้นทะเบียนชาวประมงจึงกลัวเกิดความยุ่งยากที่มาของเรือ โดยเฉพาะด้านเอกสารการซื้อขายไม่ครบ การเอาไม้มาสร้างเรือเป็นไม้ผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นต้น การขึ้นทะเบียนเรือจนถึงทุกวันนี้จึงมีจำนวนเรือน้อยกว่าความเป็นจริงมาก นายทวีศักดิ์กล่าว

สำหรับการประชุมสมัชชาการทำประมงพื้นบ้านเมื่อต้นสัปดาห์นี้ที่กรมประมง ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ประชุมกังวลค่อนข้างมาก เนื่องจากขณะนี้ชาวสวนยางพารา ปาล์มน้ำมันในภาคใต้เลิกอาชีพการทำสวนแห่ไปทำประมงพื้นบ้านกันจำนวนมากกว่าปกติ จากภาวะราคายางพาราและ

ปาล์มน้ำมันตกต่ำและต้องรอหลายวันจึงจะได้ขายมีรายได้ ในขณะที่อาชีพชาวประมงมีรายได้ทุกวัน ดังนั้น ควรจะมีการจำกัดจำนวนชาวประมงหรือไม่ เพื่อมิให้เกิดวิกฤตสัตว์น้ำในพื้นที่ทำมาหากินที่มีจำกัด แต่ประเด็นนี้ ที่ประชุมยังไม่มีบทสรุปว่าควรจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร

ขณะที่นายบรรจง นะแส ประธานที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงทิศทางการทำประมงในอนาคตว่า น่าเป็นห่วงเรื่องการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก ทำให้สัตว์น้ำที่โตเต็มวัยหายไปจำนวนมาก อาทิ การจับลูกปลาทู ทำให้ทุกวันนี้ปลาทูที่จับได้ในทะเลไทยน้อยลงมาก เห็นได้จากเรืออวนลากจับปลาเปิดและปลาวัยอ่อนมาทำปลาป่นถึงปีละ 5 แสนตัน หากคิดเป็นปลาสดตกปีละ 2 ล้านตัน ดังนั้น ภาครัฐควรจะมาตรวจสอบและดำเนินการกำหนดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนขึ้นเรืออย่างจริงจัง และควรกำหนดจับขึ้นเรือได้ไม่เกินร้อยละเท่าใด แม้ว่าที่ผ่านมาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนตัวเดียวก็มีความผิดตามกฎหมาย

ขณะที่นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า แม้กรมประมงจะเป็นผู้ดูแลการจับสัตว์น้ำตามกฎหมาย แต่หากมีปัญหาที่ควรดำเนินการแก้ไข ชาวประมงพื้นบ้านควรรวมตัวเพื่อหาทางออกร่วมกัน แล้วเสนอผ่านคณะกรรมการประมงจังหวัด เพื่อที่กรมประมงจะได้ช่วยแก้ปัญหานั้นต่อไป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!