ยกเครื่องแผนผลิตไฟฟ้า บูมหมื่นเมกะวัตต์”โซลาร์ประชาชน”

แฟ้มภาพ
ผ่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2018 ปรับฐานการคำนวณเป็นรายภูมิภาค เริ่มต้นที่กำลังผลิตใหม่ตลอดแผน 51,415 MW ระบุ 7 ปีแรกไม่จำเป็นต้องเปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPP ใหม่ ปิดฉากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เอกชนจับตาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW เชื่อเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเปิดเสรีกำลังผลิตไฟฟ้า 

 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น “ร่างแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2018 (2561-2580)” ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 5 ในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงในแผน PDP ฉบับใหม่ จะมีอยู่ 5 ด้าน คือ 1) การบริหารจัดการไฟฟ้าแบบรายภูมิภาค จากเดิมที่จะมองแบบภาพรวมของประเทศโดยอาศัยค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ของ 3 การไฟฟ้า (กฟผ.-กฟน.-กฟภ.)

2) การอนุรักษ์พลังงาน จะพิจารณาจากต้นทุนการอนุรักษ์พลังงานเทียบกับต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสิ่งแวดล้อม 3) ระบบส่งไฟฟ้า จะพิจารณาเป็นรายภูมิภาค 4) สมดุลการผลิตไฟฟ้ารายภูมิภาค กับการผลิตไฟฟ้าของทั้งประเทศเน้นให้เกิดความมั่นคงระดับในประเทศก่อน และ 5) การเปลี่ยนระบบจากการคำนวณจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ (reserve magin) 15% เปลี่ยนมาเป็นกำลังการผลิตที่เชื่อถือได้ (reliable capacity) 85% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 55,117 เมกะวัตต์ (MW)/ปี แบ่งเป็น การผลิตโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สัดส่วน 29%, โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) 27%, โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) 15%, การนำเข้าจากต่างประเทศ (สปป.ลาว) 7%, โรงไฟฟ้าขนาดจิ๋ว (VSPP) 7% และ ISP ผู้ที่ผลิตไฟเองใช้เอง เช่น ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ที่เริ่มจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) มีการผลิตไฟฟ้า 61,719 MW หรือเพิ่มขึ้น 2.2% แบ่งเป็น กฟผ. 27%, IPP 24%, SPP 20% ถ้าจะแบ่งตามสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจะเป็น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 58%, ลิกไนต์ 18%, นำเข้า11% และพลังงานหมุนเวียน 10%

 

โซลาร์ประชาชน 1 หมื่น MW

ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศตามแผน PDP ฉบับใหม่ คาดว่าปี 2580 จะมีกำลังการผลิตรวม 73,211 MW หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งมี 46,090 MW ในจำนวนนี้จะมีกำลังการผลิต (จากโรงไฟฟ้าเก่า) ที่ถูกปลดออกจากระบบ 24,294 MW และกำลังการผลิตใหม่ระหว่างปี 2561-2580 ปริมาณ 51,415 MW แบ่งเป็น 1) ระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า

หมุนเวียน 20,757 MW, โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับของ กฟผ. 500 MW,โรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชั่น 1,105 MW, โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมของกฟผ. และผู้ผลิต IPP 13,156 MW, โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ของ กฟผ.-IPP 1,740 MW, การซื้อไฟจากต่างประเทศ (สปป.ลาว) 5,857 MW และโรงไฟฟ้าหลักแข่งขันของ กฟผ.-IPPอีก 8,300 MW

2) โรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะ 400 MW, โรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 120 MW

และ 3) กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน AEDP อีก 18,176 MW แยกเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล 3,376 MW, โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 546 MW, โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW, โซลาร์ลอยน้ำ+ไฮโดร (กฟผ.) 2,725 MW, พลังงานลม 1,485 MW และขยะอุตสาหกรรม 44 MW

“ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิงระหว่างแผน PDP ฉบับใหม่ (2018) กับฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (2015) จะพบการเปลี่ยนแปลงของประเภทโรงไฟฟ้าจากสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง แบ่งเป็น ก๊าซธรรมชาติจาก 37% เพิ่มขึ้นเป็น 53%, ถ่านหิน/ลิกไนต์จาก 23% ลดลงเป็น 12%, การซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวจาก 15% เหลือเพียง 9%, พลังงานหมุนเวียนคงเดิม 20% และถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปจากแผน PDP ฉบับใหม่, เชื้อเพลิงอื่น ๆ จาก 0.1% เป็น 0.06% และเพิ่มสัดส่วนการอนุรักษ์พลังงานจากที่ไม่มีในแผน PDP 2015 เป็นสัดส่วนที่ 6% ขณะที่ค่าไฟฟ้าขายปลีกตามแผน PDP ฉบับใหม่จะอยู่ที่ 3.576 บาท/หน่วย หรือลดลง 1.974 บาท/หน่วย จากแผน PDP ปัจจุบัน (2015) มีค่าไฟฟ้าขายปลีกอยู่ที่ 5.55 บาท/หน่วย”

ประมูล IPP หลังปี 2568

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผน PDP ฉบับใหม่จะเน้นไปที่การกำหนดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 53% จากแผนเดิม 37% เนื่องจากการจัดหาก๊าซในอนาคตมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ และราคาค่าไฟฟ้าก็จะต่ำลงด้วย ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ของ กฟผ. (กระบี่ 800 MW) จะเกิดหรือไม่นั้น ต้องรอผลศึกษาจากคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ (SEA) ก่อน

“จากนี้ไปจนถึงปี 2568 กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศยังมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ แต่หลังจากนั้นกำลังการผลิตจะต่ำกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ คาดว่าในช่วงปลายแผน PDP ความต้องการไฟฟ้าจะมากกว่า 50,000 MW ดังนั้นจะต้องเริ่มมีการจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เพิ่มเติมเพื่อเข้ามาเติมในระบบ ส่วนความเห็นของทุกภาคส่วนในการทำประชาพิจารณ์ ทางกระทรวงพลังงานจะรับมาปรับปรุงร่างแผน PDP 2018 อีกครั้ง ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงเดือนมกราคม 2562” นายกุลิศกล่าว

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าระหว่างปี 2561-2568 อาจจะไม่มีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) เข้ามาในระบบอีก

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ความเห็นว่า ค่าไฟฟ้าตลอดแผนที่กำหนดไว้คงที่เฉลี่ยประมาณ 3.6 บาท/หน่วยนั้น “เป็นไปได้ยาก” เพราะราคา LNG และพลังงานด้านอื่น ๆ ที่จะนำเข้ามาจะผันแปรตามราคาน้ำมันที่คาดว่าจะสูงขึ้น

จุดเปลี่ยนโรงไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามความเห็นไปยังผู้ประกอบการถึงแผน PDP ฉบับใหม่ ส่วนใหญ่กล่าวถึงโครงการโซลาร์ภาคประชาชน (กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน ADEP หรือ IPS-independent power supply) มีเป้าถึง 10,000 MW ใน 20 ปี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยโครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านพักอาศัยขนาดไม่เกิน 10 kWp เพื่อให้ใช้ไฟฟ้าในบ้าน แต่ถ้ามีส่วนเหลือจากการใช้ไฟฟ้าในบ้านก็จะเปิดรับซื้อในราคาค่าไฟฟ้าตามที่กำหนด

“โครงการนี้จะทำให้ธุรกิจโซลาร์และการติดตั้งเฟื่องฟูขึ้นแน่นอน”

ส่วนโรงไฟฟ้าในระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงนั้นจะพบว่า โรงไฟฟ้าประเภทโคเจเนอเรชั่นกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะลดสัดส่วนลงจากแผน PDP 2015 ที่กำหนดไว้ถึง 4,117 MW กับ 17,478 MW ตามลำดับ รวมไปถึงการลดโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์จาก 7,390 MW ลงเหลือ 1,740 MW และลดการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวลงด้วย

“โรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทลมก็มีสัดส่วนการรับซื้อไฟลดลงจากแผน AEDP ฉบับปี 2015 กำหนดเป้าไว้ถึง 3,002 MW ตอนนี้เหลือแค่ 1,485 MW ประเภทชีวมวลก็ลดลงจาก 5,570 MW เหลือเป้าแค่ 3,376 MW ซึ่งหมายถึงการแข่งขันในหมู่ผู้ประกอบการมากขึ้น แถมยังมีการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจาก floating solar+hydro เข้ามาอีก 2,656 MW ทั้งหมดนี้จะทำให้ภาพการแข่งขันในธุรกิจโรงไฟฟ้าของประเทศเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายณพ ณรงค์เดช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ถือเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม กล่าวว่า “สนใจที่จะเข้าประมูลในกำลังผลิต 1,485 MW และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในลักษณะไฮบริดด้วย”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!