“สนธิรัตน์” ถกเลขาฯอาเซียน หนุนปฏิรูปอุตฯ-สรุป RCEP

แฟ้มภาพ

ไทยเตรียมพร้อมเป็นประธานอาเซียนปี”62 “สนธิรัตน์” หารือเลขาธิการอาเซียน ชูขับเคลื่อนอาเซียนก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคทางการค้า รับมือความท้าทาย เดินหน้าสรุปความตกลง RCEP เตรียมพร้อมจัดสัมมนาปฏิวัติอุตสาหกรรม 4IR ครั้งที่ 14 ม.ค.นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ได้หารือกับดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยที่จะมีขึ้นในปี 2562 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยเห็นพ้องกันว่าไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องผลักดันให้อาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศสามารถสรุปการเจรจาได้ในปี 2562 ตามที่ผู้นำของ RCEP ประกาศไว้ในการหารือครั้งนี้ ไทยแสดงความพร้อมการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับต่าง ๆ ถึง 9 การประชุม และแจ้งว่าไทยได้นำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่จะให้สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน หรือ Advancing Partnership for Sustainability” ซึ่งจะประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) ก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคต (future orientation) 2) ส่งเสริมความเชื่อมโยง (enhanced connectivity) และ 3) สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ (sustainable in all dimensions) รวม 12 ประเด็น อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลาง ย่อม ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล การเชื่อมโยงระบบการแจ้งข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวหรือ ASEAN single window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศ และการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ให้ได้ในปี 2562 เป็นต้น

นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวชื่นชมที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล และการเตรียมความพร้อมของอาเซียนสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเฉพาะการเตรียมจัดสัมมนาครั้งใหญ่ของอาเซียนเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (Special Session on the Forth Industrial Revolution หรือ 4IR) ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 ม.ค. 2562 ช่วยสร้างความตระหนักแก่สมาชิกอาเซียนและเอกชนไทยเรื่องของ 4IR และเตรียมความพร้อมรองรับและใช้ประโยชน์ 4IR ช่วยลดช่องว่างของการพัฒนา และการรวมกันของสมาชิกอาเซียนจะช่วยลดปัญหาและอุปสรรค ให้อาเซียนสามารถเผชิญกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาค