ขายซองซ้ำประมูลแหลมฉบัง ซีพี-ITDลุยต่อเมืองอู่ตะเภาเชื่อมไฮสปีด

นับหนึ่งใหม่ประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่า 8.5 หมื่นล้าน คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรื้อทีโออาร์ ปลดล็อกกฎเหล็ก หวังจูงใจเอกชนร่วมลงทุน ปรับคุณสมบัติ สัดส่วนผู้ถือหุ้น ประสบการณ์ ชงบอร์ดอีอีซีเคาะ 23 ม.ค. เปิดขายซอง 31 ม.ค.นี้ ด้านซี.พี.-อิตาเลียนไทยฯ เตรียมชิงเค้กเมืองการบินอู่ตะเภา 3 แสนล้าน ต่อยอดรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กองทัพเรือยื่นซอง 28 ก.พ.นี้ 

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกมีมติจะเปิดขายซองประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เงินลงทุน 84,361 ล้านบาทใหม่ ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ หลังจากก่อนหน้านี้มีรายเดียวยื่นซองประมูล คือ บจ.แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ แต่ไม่มีหลักประกันซองจึงต้องยกเลิกไป

โดยการประมูลครั้งใหม่จะปรับรายละเอียดทีโออาร์บางส่วนหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นของเอกชนเพิ่มเติม อาทิ 1.ระยะเวลาขายเอกสารเชิญชวนจะคงไว้ 2 เดือน จากที่เอกชนเสนอ 1-3 เดือน 2.ด้านคุณสมบัติ กรณีนิติบุคคลเดิมต้องจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 3 ปี และใช้ประสบการณ์ของผู้ร่วมทุนเดิมได้ แต่ไม่ผ่อนปรนให้นิติบุคคลใหม่ 3.ด้านประสบการณ์บริหารท่าเรือ 10 ปี ยังไม่ได้ข้อสรุป 4.การคำนวณอัตราภาษีโรงเรือน ปัจจุบันเทศบาลนครแหลมฉบังจัดเก็บอยู่ที่ปีละ 12.5% 5.ความรับผิดร่วมในฐานะผู้ร่วมทุนตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซีอนุมัติวันที่ 23 ม.ค. 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกชนที่ร่วมรับฟังความคิดเห็นเอกชนในวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 62 คน จาก 32 บริษัท เช่น บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล (PTT Tank), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น, บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง, บจ.มิตซุย, บจ.อิโตชู ทั้งนี้ ไม่มีผู้แทนจาก บจ.ซี.พี.โฮลดิ้ง มาร่วมฟัง โดยโครงการนี้ให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost รับสัมปทานบริหารท่าเรือ 35 ปี

สำหรับความคืบหน้าการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน พื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท โดยกองทัพเรือจะเปิดยื่นซองวันที่ 28 ก.พ.นี้ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 50 ปี ซึ่งมีเอกชนไทยและต่างชาติให้ความสนใจซื้อซองประมูล 42 ราย ล่าสุด มีกระแสข่าวว่าทางกลุ่ม ซี.พี. และพันธมิตร เช่น อิตาเลียนไทยฯ กำลังเตรียมเอกสารเพื่อยื่นซองประมูลด้วย เนื่องจากเป็นโครงการเกี่ยวเนื่องกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่กลุ่ม ซี.พี.เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด

คลิกอ่าน เกินคาด! ลงทุนปี61 ขอส่งเสริมบีโอไอทะลุ 9 แสนล้าน พื้นที่อีอีซียอดพุ่งกระฉูด

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!