ค้าต่างประเทศเผยยอดการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าปี 61 ทั้ง FTA และ GSP มีมูลค่ากว่า 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.76%

ค้าต่างประเทศเผยยอดการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าปี 61 ทั้ง FTA และ GSP มีมูลค่ากว่า 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.76% ส่วนปี 2562 ตั้งเป้ามูลค่าทะลุ 8 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่ม 9%

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของปี 2561 (ม.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่าการใช้สิทธิ์รวมอยู่ที่ 74,335.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.76% หรือคิดเป็นอัตราการใช้สิทธิ์อยู่ที่ 76.95% ของการได้รับสิทธิทั้งหมด ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ที่สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่มูลค่า 70,794 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% โดยการใช้สิทธิ์ทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิ์ภายใต้ FTA มูลค่า 69,602.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.16% หรือคิดเป็นอัตราการใช้สิทธิ์อยู่ที่ 78.48% และภายใต้ GSP มูลค่า 4,733.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.20% หรือมีอัตราการใช้สิทธิ์ 59.81%

ทั้งนี้ การใช้สิทธิ์ภายใต้ FTA 5 อันดับแรก อาเซียนเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 26,890.32 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ จีน มูลค่า 17,633.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่า 9,121.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น มูลค่า 7,565.75 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินเดีย มูลค่า 4,466.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน FTA ที่มีการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับ พบว่า ไทย-ชิลี ใช้สิทธิ์สูงสุด 98.85% อาเซียน-จีน 88.57% ไทย-ญี่ปุ่น 88.47% อาเซียน-เกาหลี 87.19% และไทย-เปรู 85.97% ขณะที่สินค้าใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับ คือ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ตู้เย็น น้ำตาลจากอ้อย และทุเรียน

สำหรับการใช้สิทธิ์ภายใต้ GSP 5 ประเทศ พบว่า การใช้สิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐฯ มากสุด คือ ประมาณ 90% ของมูลค่าการใช้สิทธิ์ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า 4,248.59 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.04% หรือมีอัตราการใช้สิทธิ์ 67.51% รองลงมา คือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่า 163.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.11% หรือใช้สิทธิ์ 85.06% สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 296.32 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือใช้สิทธิ์ 37.99% นอร์เวย์ มูลค่า 17.65 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือใช้สิทธิ์ 53.15% และญี่ปุ่น มูลค่า 7.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 58.67% หรือใช้สิทธิ์ 1.27% โดยสินค้าที่ใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มอื่นๆ และเลนส์แว่นตา

“การใช้สิทธิ์ GSP ของญี่ปุ่น จะมีการเปลี่ยนแปลงในเร็วๆ นี้ โดยข่าวร้าย คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2562 เป็นต้นไป ญี่ปุ่น จะตัด GSP ที่ให้กับไทยทุกรายการ เพราะไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเป็นเวลา 3 ปี ส่วนข่าวดี คือ เรารวยขึ้น ก็เลยไม่ได้ GSP อีกต่อไป แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เพราะสินค้าที่ถูกตัด GSP ทั้งหมด สามารถใช้สิทธิพิเศษภายใต้ FTA กับญี่ปุ่นที่มีอยู่ 2 กรอบ คือ JTEPA (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น) และ AJCEP (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น) และได้ลดหย่อนภาษีนำเข้าในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นซอร์บิทอลเพียงรายการเดียวที่ได้รับผลกระทบ เพราะถูกตัด GSP และไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีทั้งภายใต้ JTEPA และ AJCEP”

นายอดุลย์กล่าวว่า ในปี 2562 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าทั้ง FTA และ GSP ไว้ที่มูลค่า 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% โดยเป็นการตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่มูลค่า 272,685 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% และยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดเดิมและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ การพัฒนาระบบการให้บริการของกรมฯ เพื่อรองรับการใช้สิทธิ์ที่ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น แต่ก็ต้องจับตาในเรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยังไม่ชัดเจน การผันผวนของค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในหลายประเทศ