นโยบายขายฝันชาวนา TDRI ถามตรง…จะใช้เงินจากไหน ?

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ ประเทศไทยก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ท่ามกลางการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองอย่างหนักในช่วงโค้งสุดท้ายที่กำลังจะมาถึง โดยนโยบายด้านการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ข้าว” ถือเป็นนโยบายสำคัญที่แต่ละพรรคได้หาเสียงไว้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ยกตัวอย่าง “พรรคเพื่อไทย” แม้ไม่ได้ชูนโยบายรับจำนำข้าวเหมือนอย่างในอดีต แต่ยังคงเน้นการยกระดับราคาสินค้าเกษตรด้วยวิธีการต่าง ๆ มุ่งเน้นการจัดการโครงสร้างการเกษตรแบบบูรณาการ วางรูปแบบการทำงานเพื่อเพิ่มทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าการขาย และเพิ่มโอกาส

ขณะที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ยังคงชูนโยบายการประกันรายได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่เคยใช้ในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรมาแล้วในอดีต ถือเป็นจุดแข็งของพรรค ขณะที่ “พรรคภูมิใจไทย” ก็สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งไม่น้อย ด้วยการพลิกโฉมนโยบายข้าว โดยใช้โมเดล “profit sharing” จัดสรรผลกำไรให้ชาวนา หรือ “พรรคอนาคตใหม่” ที่พูดถึงการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในภาคการเกษตรและการลดการผูกขาด เป็นต้น

TDRI ถามเอาเงินมาจากไหน

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นหลังจากติดตามนโยบายหาเสียงด้านการเกษตรของทุกพรรค ในขณะนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1) นโยบายอุดหนุนแบบขายฝัน ซึ่งมีทุกพรรค 2) หลายพรรคมีนโยบายระยะยาว และ 3) นโยบายแตกต่างกันโดดเด่น เป็นที่น่าสังเกตว่า บางนโยบายไม่ดี เช่น นโยบายพรรคภูมิใจไทย เรื่อง profit sharing ซึ่งใช้รูปแบบการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชาวนาเหมือนกับระบบที่ให้กับชาวไร่อ้อย กับนโยบายจำกัดการส่งออกข้าว ซึ่งเคยมีการดำเนินการมาแล้วในอดีต แต่ไม่สามารถทำได้และส่งผลกระทบทำให้ไทยเสียตลาด

ส่วนนโยบายพรรคเพื่อไทยเรื่องการยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้ได้ในระยะเวลา 3 หรือ 6 เดือน และเมื่อขีดเส้นระยะเวลาแล้วก็เป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการแทรกแซงราคา ซึ่งอันนี้จะส่งผลเสียแน่นอน อย่างไรก็ตาม มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่มีการ “คำนวณ” เม็ดเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในนโยบายด้านการเกษตร

“คำถามก็คือ ระยะยาวแต่ละพรรคมองว่าจะใช้เงินในการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรเท่าไร และจะบาลานซ์อย่างไร หากรัฐบาลใหม่ใช้เงินนอกงบประมาณมาดำเนินโครงการก็คงหนีไม่พ้นเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งจะดำเนินการได้หรือไม่ และต้องไม่ลืมว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการระบุถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามวินัยทางการคลังด้วย ซึ่งหากพรรคใดจะขายฝันเราก็ไม่ว่า แต่จะใช้เท่าไร เอามาจากไหน และระยะยาวผลจากการดำเนินนโยบายเกษตรแบบนั้นจะเป็นอย่างไร” รศ.ดร.นิพนธ์กล่าว

จนหลายฝ่ายกังวลว่า ประเด็นเหล่านี้จะก่อให้เกิดความ “สุ่มเสี่ยง” ในเรื่องวินัยทางการคลัง ซ้ำรอยการรับจำนำข้าวในอดีต รศ.ดร.นิพนธ์มีความเห็นว่า “ประชาชนต้องมองว่า นโยบายเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดการ “ก่อหนี้” ซึ่งการก่อหนี้จะต้องไม่มากเกินไป เช่น หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะต้องขยายตัวมากกว่าอัตราการก่อหนี้ จึงจะไม่อันตราย หรือหาก GDP ไม่ขยายตัวเท่ากับรัฐ ต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มใช่หรือไม่ หรือจะใช้เงินจากแหล่งใด หากแจ้งว่าจะใช้เงินจากการกู้ ประชาชนก็ต้องตั้งคำถามว่า “กู้ไปแล้วจะเอาเงินจากที่ไหนมาใช้คืน”

ขอมาตรการระยะยาวอย่ามองสั้น ๆ

ด้าน นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย เห็นว่า นโยบายดูแลราคาสินค้าเกษตรของแต่ละพรรคในตอนนี้เป็น “นโยบายประชานิยม” ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหารายได้ “เขามองว่าเรากำลังป่วยการจะให้หายป่วยก็ต้องจัดให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น” แต่นั่นเป็นการให้นโยบายระยะสั้นไป ในภาพรวมแล้วต้องการให้พรรคการเมืองมองความยั่งยืน หรือมีแผนระยะยาวที่จะสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร อาทิ การนำเรื่องของศาสตร์พระราชาเข้ามาปรับใช้ด้วย ซึ่งนั่นทำได้จริงและมีความมั่นคง โดยจะทำให้เกษตรกรมั่นคงมีรายได้มีกินได้ยาวนานมากกว่า

โรงสีเน้นไม่บิดเบือนกลไกตลาด

ส่วนในมุมมองของโรงสีข้าว 1 ในกลไกสำคัญของระบบการค้าข้าวปัจจุบันนั้น นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า นโยบายด้านการดูแลสินค้าเกษตรของพรรคการเมืองในเวลานี้ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญการดูแลภาคการเกษตรด้วยการชูนโยบายที่ “โดนใจ” เกษตรกร ในส่วนนี้ยอมรับว่า ยังไม่มีผลกระทบต่อกลุ่มโรงสี แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้วยังขาดเรื่องของรายละเอียดและเงื่อนไขที่จะส่งเสริม-สนับสนุนในระยะยาวที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ สิ่งที่ต้องการให้ความสำคัญมากกว่านั้นคือ หากจะมีนโยบายใดออกมาก็ตามก็จะต้องไม่บิดเบือนกลไกของตลาด โดยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดในเวลานั้นมากที่สุด

ช่วยชาวนาอย่างพอดีและยั่งยืน

นายวัลลภ พิชญ์พงศา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจข้าว เครือ STC หรือนครหลวงค้าข้าว 1 ใน 5 ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของประเทศ เห็นว่า นโยบายหลักในเรื่องของการช่วยเหลือเกษตรกรก็คือ “ต้องพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและช่วยเหลือเขาให้ได้” แต่แน่นอนว่าอะไรที่ออกนโยบาย-มาตรการมาแล้วมันไปกระทบกับระบบการผลิตและระบบการค้ามากจนเกินไป มันก็จะสร้างผลกระทบตามมาอย่างที่เห็น

ยกตัวอย่าง โครงการรับจำนำ พอไปทำเยอะเกินไป ทำมากเกินไป ให้ราคาดีเกินไป เก็บข้าวในสต๊อกมากเกินไป มันก็จะกลายเป็นภาระของรัฐบาล “ฉะนั้นผมคิดว่ามาตรการอะไรที่ทำแล้วต้องทำให้มันพอดี ๆ อย่าไปทำให้มันดูดีเกินไป”

ส่วนตัวคิดว่า “อะไรที่มันดีเกินไปมันไม่ยั่งยืน” ดังนั้นสิ่งที่ผมมองว่ามันยั่งยืนไปพร้อมกัน นอกจากจะมีมาตรการสนับสนุนด้านราคา-รายได้แล้ว ควรพัฒนาเกษตรกรด้วยการให้ความรู้ด้วย “ตามจริงความรู้เขาอาจจะมีเยอะ แต่ผมคิดว่าส่วนหนึ่งในการจัดการด้านการผลิตของเกษตรกรจะทำยังไงให้ต้นทุนต่ำลง ประสิทธิภาพต่อไร่ดีขึ้น ผมว่ามันจะทำให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างยั่งยืน” นายวัลลภกล่าว