“ศิริ” ปลื้มพลังงานไทยดีขึ้นรั้งอันดับ 51 จาก 115 ประเทศ ปัดตอบการเมืองหากต้องรื้อแผนพีดีพี 2018 ใหม่

“ศิริ” ปลื้มพลังงานไทยดีขึ้นรั้งอันดับ 51 จาก 115 ประเทศ แม้ยังตามสิงคโปร์-มาเลเซีย ปัดตอบการเมืองหากต้องรื้อแผนพีดีพี 2018 ใหม่

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมงาน “อาเซียนกับการเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต” ว่าจากการจัดอันดับของ World Economic Forum(WEF) หรือสภาเศรษฐกิจโลก ที่เป็นการวัดความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตในปี 2562 นี้ประเทศไทยได้รับลำดับที่ดีขึ้นจาก 54 มาอยู่ที่ลำดับ 51 จากการจัดลำดับทั้งหมด 115 ประเทศ แต่ในภูมิภาคอาเซียนนี้ยังตามหลังประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซียอยู่ เนื่องจากความพร้อมทางด้านบุคลากร กฎหมาย และการจัดการที่เป็นระบบมากกว่า เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้มีพื้นที่ของประเทศเล็กกว่าไทย จึงทำให้การจัดการทั่วถึงมากกว่า

“การจัดอันดับครั้งนี้ประเมินจากปัจจัยหลักประมาณ 5 ด้านได้แก่ 1.ด้านโครงสร้างด้านพลังงานโดยรวมของประเทศ 2.การลงทุนใหม่ๆ 3.ประสิทธิภาพของการกำกับดูแล 4.การเตรียมความพร้อมของบุลคลากรด้านพลังงาน และ 5.การพัฒนาที่ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิงคโปร์เป็นเกาะ พื้นที่ไม่กว้างการบริหารด้านพลังงานจึงครอบคลุมมากกว่า จึงสามารถเปิดให้มีการแข่งขันผลิตไฟฟ้าแบบเติร์ดปาร์ตี้ได้และให้ประชาชนเลือกใช้เองตามความพึงพอใจ ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญอยู่มาก จึงต้องมีหน่วยงานกลางผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งไปยังพื้นที่ดังกล่าวอยู่” นายศิริ กล่าว

อย่างไรก็ตามการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(พีดีพี 2018) ฉบับใหม่นี้จะส่งผลให้ลำดับของประเทศไทยนั้นสูงขึ้นอีกแน่นอน เนื่องจากมีการเพิ่มความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับประชาชนมากขึ้น ทั้งการเปิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์)ภาคประชาชน ที่ตามแผน 10 ปีจะมีกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้การมีส่วนรวมของประชาชนในด้านพลังงานเพิ่มจาก 0% เป็น 10% และการเพิ่มใช้พลังงานหมุนเวียนที่ปลายแผน 20 ปี จะอยู่ที่ 30% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 14% ทั้งนี้พีดีพียังกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่มั่นคง และการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศที่คงที่กว่า 60% ตลอดระยะเวลา 15%

ทั้งนี้ นายศิริ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ผลการเลือกตั้งออกมา อยากให้รัฐมนตรีว่าการ​กระทรวง​พลังงานใหม่สานต่อนโยบายเดิมตามที่วางแผนไว้ อาทิ การเตรียมข้อมูลการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ​ในอ่าวไทยเพิ่มเติม เพราะประเทศจำเป็นต้องมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ​เพื่อความมั่นคง เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาหากมีการประมูลในรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติ​ถูกลงก็ถือเป็นเรื่องดี

ขณะที่โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิต ไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิต​ไฟฟ้า​ของประเทศไทย (พีดีพี 2018)​ อยู่แล้ว ซึ่งจะต้องมีการเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเบื้องต้นไม่ได้มีการเร่งรัดให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้ ส่วนประเด็นที่หลายพรรคการเมืองต้องการที่จะแก้ไขแผนพีดีพี 2018 ตนยังไม่มีความเห็นต่อเรื่องนี้