อินเดียขู่ไทยรื้อ 82 สินค้า FTA ส.อ.ท. ร้องพาณิชย์ใช้เวที “RCEP”เคลียร์

ส.อ.ท.ตื่นเอกชนอินเดียเข้าพบ ขู่รื้อบัญชีลดภาษีเอฟทีเอไทย-อินเดีย 82 สินค้า หลังขาดดุลไทยอ่วมหลายปี ไทยหวั่นสูญตลาด 5,000 ล้าน ร้องรัฐเร่งแก้ปมด่วน ด้านพาณิชย์ปัดทบทวนการลดภาษี FTA เร่งเครื่องปิดจ๊อบ RCEP

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ไทยและอินเดียได้เจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทวิภาคีระหว่างไทย-อินเดีย โดยปรับลดภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มเร่งลดภาษี (Early Harvest Scheme : EHS) จำนวน 82 รายการ ให้เป็น 0% นับตั้งแต่1 ก.ย. 2547 และลดภาษีเป็น 0% ในวันที่ 1 ก.ย. 2549 ส่งผลให้อินเดียขาดดุลการค้ากับไทยอย่างต่อเนื่อง จากนั้นเอฟทีเอไทย-อินเดียได้หยุดชะงักลง เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจาเอฟทีเอระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เมื่อปี 2547 ซึ่งจนถึงขณะนี้ความตกลงอาเซียน-อินเดียอยู่ระหว่างการทบทวน และเมื่อการประชุม ASEAN-India Expo and Forum ในเดือนสิงหาคม 2560 นางนิรมลา สิตารามัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย ได้เดินทางมาประชุมและเน้นย้ำขอให้อาเซียนทบทวนเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย เพื่อขยายการเปิดตลาดสินค้า และอำนวยความสะดวกทางการค้า และปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าระหว่างกันให้มากขึ้น

ล่าสุดนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ? ว่า จากการหารือกับกลุ่มนักธุรกิจอินเดียได้แสดงความกังวลเรื่องการลดและยกเลิกภาษีสินค้าในกลุ่มเร่งลดภาษี (EHS) ทั้งหมด 82 รายการ เพราะทำให้อินเดียขาดดุลการค้ากับไทยมาหลายปี ภาคเอกชนจึงหวั่นว่าภาวะดังกล่าวจะทำให้อินเดียมีท่าทีเปลี่ยนไป โดยอาจจะชะลอหรือยกเลิกการเปิดตลาดสินค้าบางตัว เช่น เคมีภัณฑ์ เส้นใยสิ่งทอต่าง ๆ อัญมณี เป็นต้น จะส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

“เอกชนต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้า การส่งออก และการลงทุน โดยรัฐอาจจะเร่งเจรจาการค้าเสรีไทย-อินเดียต่อเนื่องโดยเร็ว เช่น รัฐจะเจรจาอย่างไร เดินหน้า FTA อย่างไร กรอบการลดอัตราภาษีนําเข้าสินค้าอื่น ๆ จะกำหนดอย่างไร หากไทยยังเกินดุล แล้วอินเดียจะไม่ปรับลดภาษีสินค้าในกลุ่ม EHS จนเหลือ 0% จะมีทางออกอย่างไร ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าสินค้า EHS ปรับลดภาษีนำเข้าครบหรือยัง อาจอยู่ที่ 78 รายการ หรือ 80 รายการที่ทำแล้ว? นายเจนกล่าว

นายเจนกล่าวว่า อินเดียยังคงถือว่าเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สูงถึง 7.2% บวกกับจำนวนประชากรจำนวนมากทำให้อินเดียยังเป็นตลาดใหม่ และมีตลาดขนาดใหญ่ การค้าระหว่างกันจึงยังคงน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยดังนั้น รัฐจำเป็นต้องเร่งการเจรจาหาช่องทางให้ผู้ประกอบการทำตลาดได้ เมื่อการเจรจาค้างคาอยู่ภาคเอกชนหวั่นว่าการค้าจะสะดุด

ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศไทย-อินเดีย พบว่า 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค-ก.ค. 2560) มีมูลค่ารวมกว่า 5,696.69 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 182,750 ล้านบาท) ขยายตัว 27.13% เป็นการส่งออก 3,550.76 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 113,908 ล้านบาท) เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 16.01% และการนำเข้า 2,145.93 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 68,841 ล้านบาท) เช่น เครื่องเพชรพลอย/อัญมณี/เงินแท่งและทองคำ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 51.09% จึงมีดุลการค้า 1,404.83 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 45,067 ล้านบาท) นั่นแสดงว่าไทยเกินดุล เช่นเดียวกับปากีสถานเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อมาก รัฐบาลต้องเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน เพื่อสรุปรายการสินค้าที่จะมีการเปิดตลาดระหว่างกัน ให้กำหนดกรอบ

รูปแบบการลดภาษีชัดเจน ซึ่งปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศของไทย-ปากีสถาน 7 เดือน (ม.ค-ก.ค. 2560) พบว่ามีมูลค่า 907.85 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 29,124 ล้านบาท) ขยายตัว 38.60% การส่งออก 818.31 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 26,251 ล้านบาท) เช่น รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 38.94% การนำเข้า 89.54 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,872 ล้านบาท) เช่น สัตว์น้ำสด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูปและกึ่ง กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ขยายตัว 35.51% ดุลการค้า 728.77 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,379 ล้านบาท)

ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรอบการเจรจาการค้าอาเซียน-อินเดีย หรือความตกลงด้านการค้ากับอินเดีย ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการเจรจาที่ชัดเจนซึ่งยังต้องรอดูรายละเอียดหรือความพร้อมว่าจะมีกรอบการเจรจาอีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ตอนนี้จนถึงปลายปี 2560 ยังไม่มีการกำหนดกรอบการหารือใด ๆ ทั้งสิ้น แต่การเจรจาการค้ากับอินเดีย ไทยอาจจะใช้เวทีกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในการเข้าหารือการค้า สินค้า และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป คาดว่าจะมีการประชุมหารือกันอีกครั้งประมาณวันที่ 23-28 ตุลาคม 2560

ส่วนเอฟทีเอไทย-ปากีสถาน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยในการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม 2560 ณ กรุงอิสลามาบัด เน้นการเปิดตลาดสินค้า ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้เสร็จในปีนี้

การเจรจารอบนี้ 2 ฝ่ายหาข้อสรุปเบื้องต้นเรื่องรูปแบบการลดภาษีระหว่างกันได้ และจะกลับไปจัดทำข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้าตามรูปแบบที่ตกลงกัน เพื่อเจรจารายละเอียดในรอบต่อไปที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายน 2560 นอกจากนี้ ได้หารือเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าที่จะเป็นเงื่อนไขของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตลอดจนแนวทางการลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี

หากเจรจาสำเร็จ คาดว่าการทำ FTA จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย โดยไทยจะสามารถส่งออกสินค้า โดยเฉพาะในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น และนำเข้าวัตถุดิบจากปากีสถาน