สินค้าเกษตรรับอานิสงส์ สงครามการค้าจีน-สหรัฐ

แฟ้มภาพ
จับตาสินค้าเกษตรดาวรุ่ง-ดาวร่วง หลังจีน-สหรัฐออกอาวุธขึ้นภาษีสินค้าระหว่างกันเกือบ 600,000 ล้าน “ไก่-น้ำตาล-กากถั่วเหลือง-ข้าวสาลี” รับอานิสงส์ ลุ้นส่งออกไปจีนเพิ่ม โรงงานอาหารสัตว์ได้วัตถุดิบราคาถูกลง แต่ยางพารามีแนวโน้มย่ำแย่ จีนชะลอการรับซื้อหลังตุนสต๊อกไว้กว่า 400,000 ตัน จี้รัฐดูแลอัตราแลกเปลี่ยน อย่าปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป 

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนได้ถูกยกระดับความรุนแรงด้วยการที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 25% คิดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญ (รวมครั้งแรกขึ้นภาษี 10% 300,000 ล้านเหรียญ) ในขณะที่จีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ 60,000 ล้านเหรียญ พร้อมกับกดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง การตอบโต้กันไปมาเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ในจำนวนสินค้าจีนที่ถูกขึ้นภาษี 200,000 ล้านเหรียญนั้น “อาจทำให้การส่งออกไทยลดลงประมาณ 5,600-6,700 ล้านเหรียญ” แต่ในขณะเดียวกันก็มีสินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรจะได้รับอานิสงส์สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นด้วย

ไก่ลุ้นยอดส่งออกเพิ่ม 100% 

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า การที่จีนปรับขึ้นภาษีนำเข้าไก่จากสหรัฐจะไม่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐเลย เนื่องจากจีนไม่ได้นำเข้าเนื้อไก่จากสหรัฐอยู่แล้ว ส่วนผู้ส่งออกไทยมีโอกาสจะขยายตลาดส่งออกเนื้อไก่ไปยังประเทศจีนได้มากขึ้น หรือจาก 18,000 ตัน เป็น 30,000-40,000 ตัน หลังจากที่จีน “เปิดตลาด” นำเข้าไก่จากประเทศไทยเป็นปีแรก (มีโรงงานไทย 7 ราย จาก 27 รายที่ผ่านการรับรองจากจีน) โดยผู้ส่งออกไก่ไทยจะได้รับการลดภาษีนำเข้าตามกรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนเป็น 0% และปีนี้ยังมีปัจจัยบวกจากกรณีที่จีนเกิดภาวะโรคอหิวาต์หมูทำให้ประชาชนหันมาบริโภคไก่แทนด้วย

“น้ำตาล” ยังติดโควตาเข้าจีน

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า การที่จีนปรับขึ้นภาษีนำเข้าน้ำตาลจากสหรัฐนั้น “ก็ไม่ได้กระทบต่อสหรัฐเช่นกัน” เนื่องจากตามปกติจีนนำเข้าน้ำตาลจากออสเตรเลีย-สปป.ลาว และไทย แต่การนำเข้าน้ำตาลจากไทยยังติดปัญหาการถูกจำกัดด้วยโควตาอยู่ หากไทยจะขยายตลาดส่งออกน้ำตาลไปจีนก็จะต้องเจรจาในเรื่องของโควตากับจีน “สิ่งที่กระทบกับการส่งออกสินค้าไทยตอนนี้ก็คือเรื่องค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท หรือเท่ากับสินค้าไทยแพงขึ้น เราต้องเทียบอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญกับอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำตาลโลกประเทศอื่น ๆ ด้วย ประกอบกับตอนนี้ยังมีปริมาณสต๊อกน้ำตาลในตลาดโลกจำนวนมากที่คงค้างมาจากปี 2561 ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกทรงตัวในระดับต่ำ”

กากถั่ว-ข้าวสาลีถูกลง

แต่ในด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ สงครามการค้ากลับส่งผลดีต่อผู้ประกอบการโรงงานอาหารสัตว์ไทย โดยนายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจผลิตและขายอาหารสัตว์บก บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในปี 2562 ว่า มีโอกาสขยายตัว 3-5% จากปัจจัยเรื่องของต้นทุนอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง รำ ราคามีแนวโน้มลดลง 4-5% ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะ “กากถั่วเหลือง-ข้าวสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

“สหรัฐเป็นประเทศผู้ผลิตส่งออกกากถั่วเหลือง-ข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก การที่จีนประกาศขึ้นภาษีวัตถุดิบอาหารสัตว์จากสหรัฐมีผลทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ถูกลง การนำเข้าลดลง ขณะที่จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ลดการนำเข้า ซัพพลายในตลาดก็จะมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตมีเท่าเดิม ตรงนี้อาจจะเป็นโอกาสของผู้ผลิตที่จะนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในราคาถูกลง นอกจากนี้สงครามการค้ายังมีผลเชื่อมโยงถึงค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตอาหารสัตว์นำเข้าวัตถุดิบได้ถูกลงเช่นกัน” นายเรวัติกล่าว

อนาคตยางราคาร่วง

สถานการณ์ราคายางแผ่นรมควันในประเทศหลังจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ พบว่าราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตคอมญี่ปุ่นวันนี้ (16 พ.ค. 62) ส่งมอบเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น กก.ละ 1.98 บาท ตลาดเซี่ยงไฮ้จีนส่งมอบเดือนกันยายนราคาซื้อขายเพิ่มขึ้น กก.ละ 2.56 บาท ส่งผลให้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ตลาดกลางสงขลา สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช เฉลี่ยเพิ่มขึ้น กก.ละ 45 สต. (ราคาประมูลยางแผ่นรมควันชั้น 3 ตลาดสงขลา 53.35 บาท/กก. ราคาสูงสุดตลาดกลางนครศรีธรรมราช 53.50 บาท/กก. ณ วันที่ 17 พฤษภาคม)

สำหรับราคายางในอนาคตนั้น ทางกลุ่มผู้ส่งออกยางไปจีนกังวลว่า ผลจากสงครามการค้าจะทำให้ชะลอการลดการซื้อยางลง ประกอบกับที่ผ่านมาจีนได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมกรณีสหรัฐปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางในประเทศจีนได้เร่งซื้อวัตถุดิบยางพาราจากต่างประเทศและเร่งการผลิตแปรรูปส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรปและสหรัฐ มีการตุนสต๊อกไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก คาดการณ์ว่า “จีนมีสต๊อกยางถึง 400,000 ตัน/เดือน มีการนำออกใช้ประมาณ 200,000 ตัน/เดือน ทั้งสต๊อกยางแท่ง STR และ STR 5 L สำหรับผลิตล้อเครื่องบิน ส่งผลต่อเนื่องให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปล้อยางทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางในประเทศจีนชะลอการรับซื้อยางพาราในอนาคต มีผลทำให้ราคายางในประเทศไทยมีแนวโน้มน่าวิตก โดยในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดการณ์ว่าทิศทางราคายางจะปรับตัวลดลง น้ำยางสดจากราคา 48-49-50 บาท/ กก. จะปรับลงมาอยู่ในระดับ 40 บาท ยางก้อนถ้วยแห้ง 100 เปอร์เซ็นต์ จาก 42 บาทจะปรับลงมาอยู่ที่ 30 บาท/กก.” ผู้ส่งออกยางรายหนึ่งคาดการณ์

ด้านนายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ กลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปส่งออกยางรายใหญ่ในภาคใต้ เชื่อว่า ราคายางช่วงครึ่งหลังปี 2562 “อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดีและน่าวิตก” จากผลสงครามการค้าทำให้จีนจะต้องปรับราคาซื้อวัตถุดิบยางลดลง เพื่อคำนวณต้นทุนนำไปจ่ายภาษี จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทยไปยังประเทศจีนทันที ตอนนี้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตล้อยาง ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ยังไม่เปิดรับซื้อยาง และส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางรมควันของไทย ซึ่งตอนนี้เสนอขายระดับราคา 1,700 เหรียญสหรัฐ/ตัน “ก็ยังไม่มีผู้ซื้อ ดังนั้นการที่รัฐบาลจะดันราคายางขึ้นไปถึง กก.ละ 60 บาทในภาวะสงครามการค้าเช่นนี้จึงเป็นเรื่องน่าวิตก”

“3-4 เดือนที่ผ่านมา ราคายางพารายังดีอยู่ เพราะเป็นฤดูกาลปิดหน้ากรีดยาง และแล้งยาวจึงเกิดภาวะขาดแคลน ขนาดกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์เอง น้ำยางสดเหลือประมาณ 2,000-3,000 กก./วัน จากเดิมที่เคยรับซื้อประมาณ 20,000-30,000 กก./วัน จึงทำให้ราคาน้ำยางสดดี อยู่ที่ 48-49 และ 50 บาท/กก. และราคายางทรงตัว แต่ขณะนี้เริ่มเปิดหน้ากรีดยาง ตั้งแต่วันที่ 1-12 พ.ค. 62 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ปริมาณจะออกมามาก ฉะนั้นการที่รัฐบาล พรรคการเมือง จะดันราคายาง 60 บาท/กก. เมื่อเจอภาษี 25% จากสหรัฐ จึงน่าวิตก” นายกัมปนาทกล่าว

บาทแข็งออร์เดอร์ชะลอตัว

นายธนวรรธ์ พลวิชัย รองอธิบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สงครามการค้าทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจจีนชะลอตัวและส่งออกสินค้าได้ลำบาก โดยจีนยังคงชะลอรับซื้อยางพาราจากไทยและลดปริมาณการสั่งซื้อหรือนำเข้ายางพาราจากไทยด้วย เนื่องจากกลุ่มธุรกิจในจีนเองได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าและส่งออกที่เพิ่ม เป็นสัญญาณว่า โครงสร้างการส่งออกไทยเริ่มเปราะบาง ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมการใช้ยางในประเทศและหาตลาดใหม่ อย่างไรก็ตามต้องติดตามสงครามการค้าช่วงเดือนมิถุนายนอีกครั้ง

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง การส่งออกของไทยติดลบเกือบทุกสินค้าในช่วงไตรมาสที่ 1 ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่า ทำให้คำสั่งซื้อชะลอตัว อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า -10.94% เม็ดพลาสติก -7.63% เครื่องคอมพิวเตอร์ -15.29% แต่มีเพียงตลาดสหรัฐที่ไทยยังส่งออกได้ดี โดยผลิตภัณฑ์ยางที่ได้รับอานิสงส์ มีการส่งออกและขยายตัวที่ 7.04%

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!