“พาณิชย์” คลอด “ยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทย” ฉบับแรกของประเทศ เน้น 4 ยุทธศาสตร์หลัก

“พาณิชย์” คลอด “ยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทย” ฉบับแรกของประเทศ เน้น 4 ยุทธศาสตร์หลักสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจบริการไทยระยะยาว หวังผลักดันให้เป็นฮับด้านธุรกิจบริการของอาเซียน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นเพิ่มรายได้ให้ชุมชน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ตามที่กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 จึงได้กำหนด “ยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทย” ขึ้น โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจบริการอาเซียน เพิ่มรายได้ของภาคบริการ และส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจบริการระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1) การสร้างนักรบธุรกิจบริการสู่ภูมิภาค (Service 4.0 Warrior) 2) การต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation-based Services) 3) การเชื่อมต่อธุรกิจบริการไทยสู่ตลาดโลก และ 4) การยกเครื่องด้านกฎหมายและข้อมูลธุรกิจบริการ พร้อมกับจะกำหนดธุรกิจบริการเป้าหมายเป็น รายจังหวัด/กลุ่มจังหวัด/ภาค โดยเน้นการพัฒนาผู้ให้บริการและยกระดับมาตรฐานบริการให้เป็นสากล”

ทั้งนี้ ธุรกิจบริการถือเป็นภาคนอกการเกษตร ที่มีความสำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่าในปี 2558 GDP ของประเทศไทย มีมูลค่า 13,533,596 ล้านบาท จำแนกเป็น GDP ภาคเกษตร 1,237,309 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.1 และ GDP ภาคนอกการเกษตรคิดเป็น 12,296,287 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.9 โดยมี GDP ภาคบริการสูงสุดคิดเป็น 7,841,743 ล้านบาท หรือร้อยละ 64

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลของ WTO ระบุว่า การส่งออกบริการของไทยในปี 2558 อยู่ที่อันดับที่ 21 ของโลก และเลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 11 ในปี 2559 โดยมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของการส่งออกบริการทั้งโลก รองจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 6 และสูงกว่ามาเลเซียซึ่งอยู่ในลำดับที่ 18

สำหรับข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลในภาคธุรกิจบริการของประเทศไทยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำแนกตาม Thailand Standard Industrial Classification (TSIC) พบว่า จำนวนธุรกิจบริการที่มีผู้จดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) การขายส่ง-ปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักยานยนต์ 2) การก่อสร้าง 3) กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 4) กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 5) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (นำเที่ยว) 6) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 8) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 9) ศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ และ 10) กิจกรรมทางการเงินการประกันภัย อย่างไรก็ดี หากดูรายได้รวมปี 2558 จากนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ธุรกิจที่มีรายได้สูงสุดตามลำดับได้แก่ 1) การขายส่ง-ปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักยานยนต์ 2) กิจกรรมทางการเงินการประกันภัย 3) การก่อสร้าง 4) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และ 5) กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แสดงให้เห็นว่าบางธุรกิจแม้จะมีจำนวนผู้ประกอบการในตลาดน้อย แต่ก็สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล เช่น ธุรกิจการเงินการประกันภัย เป็นต้น

รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคบริการมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดทำ “ยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทย” โดยวางเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้านธุรกิจบริการของอาเซียน ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) การสร้างนักรบธุรกิจบริการสู่ภูมิภาค (Service 4.0 Warrior) โดยแบ่งเป็นคลัสเตอร์ธุรกิจตามทรัพยากรท้องถิ่นและห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจบริการ มุ่งเน้นการส่งเสริมธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ค้าส่งค้าปลีก ขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สสว. สถาบันการศึกษา และสมาคมการค้า 2) การต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation-based Services) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม New S-Curve การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างมาตรฐานการบริการที่มีความน่าเชื่อถือ ขับเคลื่อนร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันการศึกษา 3) การเชื่อมต่อธุรกิจบริการไทยสู่ตลาดโลก โดยมุ่งเน้นธุรกิจบริการผู้สูงอายุ หรือ “Silver Market” เนื่องจากเป็นตลาดการค้าบริการที่ที่สามารถต่อยอดไปสู่บริการอื่นได้หลากหลายประเภท และการส่งเสริม Startup เชื่อมกับ New S-Curve เพื่อที่จะต่อยอดสู่ตลาดโลก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้ง Startup complex เพื่อสนับสนุนระบบนิเวศน์ (ecosystem) ของ Startup อย่างครบวงจร โดยคัดเลือกกลุ่ม Startup ที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มที่ได้รับรางวัล มาทำการบ่มเพาะต่อยอดให้มีศักยภาพ โดยให้บริการตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านการบริการจัดการธุรกิจ ระบบบัญชี การทำการตลาดไปสู่ต่างประเทศ การนัดหมายให้พบกับสถาบันการเงิน หรือ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ไอเดีย นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นธุรกิจได้จริง และ 4) การยกเครื่องด้านกฎหมายและข้อมูลธุรกิจบริการ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข BOI และสมาคมผู้ประกอบธุรกิจ โดยการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และรองรับแนวโน้มในอนาคต พร้อมทั้งการจัดทำ “สำมะโนธุรกิจบริการ” โดยทำการสำรวจการประกอบธุรกิจบริการของประเทศไทยในด้านของจำนวน รายได้ ประเภทธุรกิจ และรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างฐานข้อมูลที่มีคุณภาพสำหรับวิเคราะห์ต่อยอดธุรกิจบริการและปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมการค้าภายใน

พร้อมกันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดกลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมายไว้เป็น 2 ลักษณะ คือ ธุรกิจบริการ First S – Curve ได้แก่ 1) Wellness & Medical Services 2) Hospitality Services 3) Creative Services 4) Trade Support Services 5) Construction & Related Services 6) Education Services โดยมุ่งการส่งเสริมและพัฒนา Traditional Service สู่ การเป็น High Value Service โดยอาศัยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ อาทิ E-commerce Logistics และ Fintech และธุรกิจบริการ New S- Curve ได้แก่ 1) ธุรกิจบริการด้านสิ่งแวดล้อม 2) ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล 3) ธุรกิจบริการต่อยอด New S-curve ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมการให้บริการอย่างครบวงจร อาทิการซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ อากาศยาน ยานยนต์ในน้ำและยานยนต์ไร้คนขับ และการผลิต Digital Content

นอกจากนั้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการไทย กระทรวงพาณิชย์ยังมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจบริการเพื่อให้เข้าถึงแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย โดยคำนึงถึง ทรัพยากรและภูมิประเทศ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้แบ่งเป็น 6 Cluster ธุรกิจตามความเหมาะสมกับทรัพยากรท้องถิ่น ได้แก่ 1) Wellness & Medical Services: ภาคเหนือ และภาคกลาง 2) Hospitality Services: ภาคเหนือ และภาคกลาง 3) Creative Services: ภาคตะวันออกและภาคใต้ 4) Trade Support Services: ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ 5) Construction & Related Services: ภาคกลางตอนบนและภาคอีสาน และ 6) Education Services: ภาคใต้

รมว. พาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า มีความมั่นใจว่าหากประเทศไทยมียุทธศาสตร์ธุรกิจบริการที่ชัดเจนจะสามารถช่วยผลักดันรายได้จากธุรกิจบริการในประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจบริการทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของภาคบริการที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตและภาคการเกษตรได้อย่างลงตัว และท้ายที่สุดคือ ประเทศไทย จะสามารถเป็นศูนย์กลางของธุรกิจบริการในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ