สภาเกษตรกรฯย้ำ!! อย่าวางใจ ​”หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด” ถล่มเกษตรกรกว่า​ 40​ จังหวัด​เสียหายหนัก​

นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพืชไร่ ครั้งที่ 2/2562 พิจารณาประเด็นที่เกษตรกรร้องถึงความเดือดร้อนอย่างหนักจากการระบาด “หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด” ในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดสำรวจพบพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดระบาดเกินกว่า 60% พื้นที่ 40 กว่าจังหวัดแล้ว อาทิ นครราชสีมา กาญจนบุรี พิษณุโลก เชียงใหม่ พิจิตร น่าน ลำพูน ฯลฯความเสียหายจำนวนไร่มีการตรวจสอบข้อมูลกันอยู่

โดยในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้จัดทำหนังสือรายงาน 7 ข้อเสนอต่อประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติพิจารณาและส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับ 7 ข้อเสนอ ได้แก่ 1.ขอให้หน่วยงานภาครัฐจัดหางบประมาณกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

2.ขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งจัดหางบประมาณเพื่อให้ความรู้ในการผลิตสารชีวภัณฑ์ควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้ ข้าวโพดลายจุด ในระยะไข่และระยะตัวอ่อน

3.ขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งสร้างองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในการป้องกันการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

4.ขอให้หน่วยงานภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการผลิตตัวห้ำ – ตัวเบียน เพื่อนำปล่อยในพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

5.ขอให้หน่วยงานภาครัฐนำเข้าหรือผลิตสารฟีโรโมนเพื่อนำไปควบคุมตัวเต็มวัยของหนอนกระทู้ข้าวโพด-ลายจุด

6.ขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งศึกษางานวิจัยผลิตสายพันธุ์ข้าวโพดที่ต้านทานต่อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

7.ให้กรมวิชาการเกษตรเร่งรัดในการออกใบอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าสารเคมีที่ใช้กำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้โดยตรง

นายเติมศักดิ์กล่าวว่า จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้เนื่องจากหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดสามารถบินได้ไกลเฉลี่ย 100 กิโลเมตรและหากมีลม พายุ จะไปได้ไกลและเร็วตามแรงลม พายุ และด้วย และหนอนชนิดนี้มีอายุตั้งแต่ 30 – 45 วัน มีวัยในการเจริญพันธุ์อยู่ประมาณ 5 ช่วงวัย เข้าทำลายตั้งแต่รากถึงยอดแตกต่างตามช่วงวัย ช่วงวัยที่ 3 จะทำลายและระบาดรุนแรงสุดด้วยวัยนี้จะเข้าไปอยู่ในซอกใบแล้วกัดกินทะลุยอด ช่วงที่อ่อนแอและควรทำลายเป็นช่วงระยะไข่ ซึ่งในแต่ละช่วงวัยจะสร้างความเสียหายไม่เหมือนกัน และความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิงจึงไม่สามารถประกาศเป็นภัยพิบัติควบคุมโรคไม่ได้

ทั้งนี้ ได้ขอให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการงานวิจัยที่จะพัฒนาต่อยอดเอามาป้องกัน เช่น พันธุ์ข้าวโพดต้านทานที่ไม่ใช่ GMO, สารฟีโรโมนล่อตัวเต็มวัย ซึ่งทำลายต้นเหตุโดยในประเทศไทยยังไม่มีการทดลองและสั่งนำเข้ามาใช้, องค์ความรู้ที่ต้องเร่งสร้างให้กับเกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์/สารเคมีที่มีประสิทธิภาพควรใช้ระยะไหนช่วงเวลาใดด้วยสารเคมีหลายชนิดที่ใช้ในประเทศไทยฉีดเกิน 3 ครั้ง หนอนจะดื้อยา, การใช้วิธีผสมผสานกำจัดและทำลายควรทำเป็นระบบและเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ปลูกข้าวโพดใช่ว่าจะหยุดวงจรมันได้ เพราะหนอนยังสามารถแพร่ระบาดไปยังพืชชนิดอื่นกินได้อีกกว่า 80 ชนิด เช่น ข้าว ข้าวฟ่าง กะหล่ำ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ฯลฯ และท้ายที่สุดอาจจะรุนแรงจนควบคุมไม่อยู่ จะสร้างความเสียหายมาก