ลงพื้นที่สางปัญหาร้อน กลยุทธ์ใหม่ รมต.ป้ายแดง

สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีใหม่ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 เริ่มออกสตาร์ตการทำงาน โดยเน้นกลยุทธ์ดีลิเวอรี่ความช่วยเหลือลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาที่แท้จริงเพื่อเข้าถึงประชาชนแบบไปยังประชาชนในพื้นที่ทันที

เริ่มจากเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลุยงาน “Thailand Industry Expo 2019” พบกับภาคเอกชนทั่วประเทศ ตามด้วย “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่นำคณะผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงพื้นที่เปิดตัวโครงการไทยเด็ด ที่สถานีบริการน้ำมัน PTT จ.เพชรบุรี เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชนมีช่องทางจัดจำหน่ายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะ 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ คือ นายประภัตร โพธสุธน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ก็จัดทัพลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ภัยแล้งเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เช่นเดียวกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะลงพื้นที่ จ.ยะลา และสงขลา ประชุมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

สำหรับ นโยบายเร่งด่วนของแต่ละกระทรวงในช่วง 6 เดือนแรก โฟกัสไปที่การสานต่องานค้าง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะภาคเกษตร โดยจะหารือกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยทั้งมาตรการภาษีและเงินทุน รวมทั้งการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมให้มีธรรมาภิบาลในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญมีแนวคิดจะขยายนโยบายส่งเสริมการลงทุนในโมเดลเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะโครงการนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ขณะที่การสางภารกิจเผือกร้อนกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการกรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยสั่งปิดเหมืองทองอัครา ของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด จำกัด บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ เดิมพันครั้งนี้หากพ่ายแพ้จะส่งผลให้ไทยต้องเสียค่าชดเชยมหาศาล และบริหารจัดการเรื่องอ้อยและน้ำตาลให้เหมาะสม โดยจะดูแลราคาอ้อยขั้นต้นปรับขึ้นเป็นตันละ 1,000 บาท แต่ต้องไม่ให้ขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO)

ส่วน กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการนโยบายเร่งด่วน “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” ซึ่งจะบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล โดยเน้นพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ

ขณะที่นโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะทำงานร่วมกับเอกชนอย่างใกล้ชิดแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากผลพวงของสงครามการค้า เพื่อผลักดันการส่งออกปี 2562 ให้ไปถึงเป้าหมาย 3% ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ยังค้างท่อ ต้องเร่งเครื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก่อน เพราะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ขณะเดียวกันจะพิจารณาการเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่ชะลอไปนานแล้ว

สำหรับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ภัยแล้ง” ถือเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่ต้องหารือในทุกมิติ แม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่ถึงขั้นวิกฤตที่ต้องประกาศ แต่จะต้องให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำก่อนเป็นอันดับแรก นอกจากจะพิจารณาแนวทางเร่งด่วนเพื่อรักษาผลผลิตข้าวนาปี โดยจะพิจารณาว่าต้องเพิ่มปริมาณฝนหลวงหรืออาจจะประสานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อดึงน้ำใต้ดินมาช่วยเกษตรกร

ขณะเดียวกันจะพิจารณาแผนรับมือหาพืชน้ำน้อยมาทดแทนการปลูกข้าว การส่งเสริมเรื่องการตลาดนำเกษตรกรช่วยแก้ปัญหาราคา โดยยังคงใช้นโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ซึ่งจะต้องประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการ

ขณะที่กระทรวงพลังงาน ซึ่งหลายฝ่ายเปรียบเทียบว่าแม้ว่าจะเป็นกระทรวงที่งบประมาณน้อย แต่เป็น “ขุมทรัพย์ผลประโยชน์” นายสนธิรัตน์เน้นย้ำว่า การดำเนินงานกระทรวงนี้จะมุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานเพื่อให้เป็นกลไกส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตอบโจทย์ประชาชนทั่วไป โดยจะช่วยลดภาระค่าครองชีพ ตลอดจนช่วยสร้างรายได้ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วย โดยจะปรับการทำงานให้โปร่งใส

ส่วนการพิจารณาทบทวนแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP 2018) นั้น ยังต้องหารือผู้บริหารกระทรวงก่อน ทั้งนี้ สิ่งใดดำเนินการไปแล้วต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคง และให้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน (SDGs) เป็นหลัก

ที่สำคัญจะเดินหน้าโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ (B20) เป็นพลังงานหลักคู่ขนานไปกับไบโอดีเซล B10 เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) มากขึ้น และจะพิจารณาว่าจะต่ออายุมาตรการชดเชยส่วนต่าง B20 ซึ่งจะหมดอายุสิ้นเดือน ก.ค.นี้หรือไม่