อุตฯปาล์มภาคใต้ร้องรัฐ ต่อยอด”โอเลโอเคมิคอล”

อุตฯ ปาล์มใต้ตัน สวนทางนโยบายรัฐหนุนลงทุน “กสอ.” เร่งเสริมหวังต่อยอดสู่ “โอเลโอเคมิคอล” ดันใช้ประโยชน์กองทุนปาล์ม 1,000 ล้าน

นางทัศนีย์ ภักดีประพันธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการลงพื้นที่พบผู้ประกอบการ ยอมรับว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มยังไม่มีการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (Oleo Chemical) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบใน อาทิ เครื่องสำอาง ยา สารแทนปิโตรเคมี เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันผลิตเพื่อการบริโภค และผลิตเชื้อเพลิงไบโอดีเซลเท่านั้น

“ขณะนี้ยังไม่มีการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่ผู้ประกอบการโรงงานสกัดปาล์มต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน หรือเพิ่มมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามา จะรูปแบบใดก็ได้ทั้งลงทุน 100% ร่วมลงทุนถือหุ้นส่วนหนึ่ง หรือพาร์ตเนอร์ เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาถ่ายทอดให้กับนักลงทุนและโรงสกัดปาล์มในท้องถิ่นให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น เพราะท้องถิ่นมีวัตถุดิบในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมาก แม้ว่านักลงทุนท้องถิ่นลงทุนแต่ก็ไม่ได้มีการต่อยอด การที่รัฐผลักดันนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ถือเป็นนโยบายที่ดี แต่นักลงทุนต่างชาติกลับไปลงทุนในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกทั้งที่วัตถุดิบอยู่ที่ภาคใต้”

หนุนธุรกิจปาล์ม – เมื่อเร็ว ๆ นี้นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) นำคณะลงพื้นที่พบผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ ซึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนมาตรการดึงดูดการลงทุน เพื่อต่อยอดนวัตกรรมใหม่

ในส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัดได้กำหนดแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และศักยภาพของจังหวัด เช่น การใช้พื้นที่ ภูมิปัญญา ทรัพยากรให้เกิดกลไกที่เอื้อต่อการขยายธุรกิจ

แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการทุกด้าน ชาวสวนมักขายผลปาล์มก่อนที่จะสุก ทำให้เมื่อสกัดน้ำมันปาล์มออกมายังมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร มีค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 17-18% เท่านั้น ขณะที่การตั้งโรงงานสกัดไม่มีกำหนดระยะห่างเหมือนการตั้งโรงงานน้ำตาลจึงส่งผลให้เกิดการแย่งวัตถุดิบ บางรายส่งโรงสกัดที่อยู่ไกลออกไป เพราะให้ราคาซื้อที่ดีกว่าแต่กลับไม่มองถึงต้นทุนการขนส่ง ดังนั้น การจะพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในไทย จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน จึงจะแข่งขันกับอินโดนีเซียและมาเลเซียได้

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า เป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน คือ เพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มจาก 17-18% เป็น 20 – 22% และให้อุตสาหกรรมปรับบทบาทด้วยการสร้างมูลค่า โดยใช้ 1.กลยุทธ์การพัฒนากระบวนการผลิต ลดต้นทุนการผลิตโดยอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและนำองค์ความรู้การวิจัยเข้ามาช่วย 2.กลยุทธ์การเสริมแกร่งด้วยการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในทางตลาด

3.กลยุทธ์การสร้างความหลากหลายและการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยส่งเสริมองค์ความรู้พัฒนาคุณภาพน้ำมันปาล์มผลักดันสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง 4.กลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการ โดยร่วมมือหน่วยงานที่ดูแลตั้งแต่ระบบต้นน้ำ-ปลายน้ำ การปฏิบัติตามกระบวนการของมาตรฐาน RSPO(Roundtable For Sustainable Palm Oil) 5.กลยุทธ์การส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แม่นยำ คุณภาพสม่ำเสมอ พร้อมทั้งใช้กองทุนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท ช่วยสนับสนุนในการปรับปรุงกิจการ ใช้ในการวิจัยและพัฒนา การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด การแปรรูป

สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2560 มีการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 9.96 แสนตัน คาดว่าในปีนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลปาล์มดิบปี 2560/2561 ประมาณ 11.70 ล้านตัน ผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 1.99 ล้านตัน เข้าสู่อุตสาหกรรมบริโภค 1.01 ล้านตัน และเข้าสู่การผลิตไบโอดีเซล 0.86 ล้านตัน