ซีพีเอฟ เดินสายอบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อย จ.ขอนแก่น สร้างภูมิคุ้มกัน ASF

กรมปศุสัตว์จับมือภาคเอกชนเสริมความรู้เกษตรกร รายย่อย จ.ขอนแก่น ป้องโรค ASF ในสุกร หวังให้คลอบคลุมทั่วประเทศ ร่วมเฝ้าระวัง ลดความเสี่ยง ซีพีเอฟ เตรียมซ้อมแผนรับมือเข้มแข็ง

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม(2 ส.ค.) เรื่อง “เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรค ASF ในสุกร” แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นกว่า 260 คน เป็นจังหวัดที่ 10 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันสร้างภูมิคุ้มกันโรคระบาดให้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อย

ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตามแผนการเตรียมความพร้อมและรับมือโรค ASF ในสุกร ที่เป็นวาระแห่งชาตินั้น จังหวัดขอนแก่นให้ความสำคัญและประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการป้องกันโรคระบาดอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในจังหวัดขอนแก่น รวมไปถึงป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

“ในขณะนี้ยังไม่การระบาดของโรคในประเทศไทย การจัดอบรมให้ความรู้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อย จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวแก่เกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคและมีส่วนร่วมในการเป็นหูเป็นตาช่วยเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในการป้องกันอย่างเข้มแข็ง เพราะเกษตรกรรายย่อยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด” ดร.สมศักดิ์กล่าว

น.สพ.ชาญประเสริฐ พลซา ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เข้มงวดการเฝ้าระวังป้องกันโรค และเตรียมพร้อมรับมือโรค ASF ในสุกร ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นได้สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันโรค พร้อมกันนี้ได้ร่วมมือกับ ซีพีเอฟ ในการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคกับผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สามารถป้องกันและรับมือกับโรค ตลอดจนระบบการป้องกันโรคของฟาร์ม จากบริษัทเบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ แอนิมอล เฮลท์ (ประเทศไทย)

“โรค ASF ในสุกร เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน และในขณะนี้ยังไม่มีการรายงานพบการระบาดของโรคในประเทศ หากพบสุกรแสดงอาการป่วยคล้ายโรคระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ Call Center ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) จังหวัดขอนแก่น กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที”

น.สพ. จตุรงค์ โยธารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ลงสำรวจพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย เลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริมควบคู่กับทำการเกษตร และมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกันโรคดังกล่าวไม่มากพอ ประกอบกับไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ หรือไม่ได้รับข่าวสารจากกรมปศุสัตว์ หรือเกษตรกรรายย่อยที่มีความรู้เรื่องการป้องกันโรค แต่ก็ไม่มีแหล่งซื้อหายาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ บริษัทฯ จึงได้แจกน้ำยาฆ่าเชื้อพร้อมกับการให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคแก่เกษตรกรรายย่อยในแต่ละพื้นที่

น.สพ. จตุรงค์ ย้ำว่า การอบรมในหลายครั้งที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยตระหนักถึงความสำคัญและตื่นตัวกับโรคนี้เป็นอย่างมาก เป็นผลดีทั้งในด้านการให้ความรู้เพื่อช่วยกันป้องกันโรค ASF และยังช่วยให้ทราบถึงข้อมูลสำคัญการเลี้ยง เช่น จำนวนตัว พิกัด ของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานในการป้องกันและเตรียมพร้อมในการควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที

ด้าน น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า แม้หมูของบริษัทจะอยู่ในฟาร์มระบบปิดและมีระบบการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดจะไม่พบการระบาดของ ASF แต่บริษัทก็ยังยกระดับการป้องกันฟาร์มของบริษัทให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัททั้ง 100% และเพิ่มการซ้อมแผนฉุกเฉินในฟาร์มที่มีฟาร์มอื่นๆอยู่ในรัศมีใกล้เคียง เพื่อเตรียมความพร้อมหากพบการระบาด

ทั้งนี้ ซีพีเอฟมีการแบ่งฟาร์มมาตรฐานของบริษัทและเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.)กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือ ฟาร์มที่ไม่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมี 5 กม. 2.)กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง หรือฟาร์มที่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมี 1-5 กม. 3.)กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ฟาร์มของบริษัทที่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมีน้อยกว่า 1 กม.

การซักซ้อมแผนฉุกเฉินดังกล่าวทำในกลุ่มฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูง โดยจำลองสถานการณ์การเกิดโรคภายในฟาร์ม ฝึกซ้อมขั้นตอนการจัดการโรค ASF อย่างละเอียดทุกขั้นตอน เช่น การสวมชุดของเจ้าหน้าที่ที่รัดกุม การเคลื่อนย้ายสุกรที่เป็นโรคโดยป้องกันสารคัดหลั่งจากตัวสุกรไม่ให้ตกตามรายทางภายในฟาร์ม การจัดการเส้นทางขนย้ายสัตว์ไปยังบ่อฝัง การเผาทำลายเสื้อผ้าของเจ้าหน้าที่หลังเสร็จสิ้นภารกิจ รวมถึงการจัดเตรียมที่พักสำรองสำหรับเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้เห็นภาพจริงในการปฏิบัติ อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือ ASF ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ