เซ็นห้ามตั้ง “โรงเหล็กเส้น” หวั่นเหล็กลวดโดนหางเลข

แฟ้มภาพ

คุมกำเนิดโรงงานเหล็ก “สศอ.” ชง “สุริยะ” เซ็นประกาศห้ามตั้งโรงงานเหล็กเส้นทั่วราชอาณาจักรสัปดาห์นี้ เล็งขยายผล “เหล็กลวด” คิวต่อไป หากพบซัพพลายล้น-กระทบสิ่งแวดล้อม

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อเดือน ม.ค. 2562 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการ (ร่าง) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้น

เสริมคอนกรีตทุกขนาด ทุกท้องที่ ในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นเวลา 5 ปี ล่าสุดได้นำเรื่องเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอาจต้องชี้แจงในรายละเอียดอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ก่อนจะมีการลงนามในประกาศดังกล่าว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตนได้รับทราบร่างประกาศดังกล่าว และเห็นรายงานข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว โดยภายในสัปดาห์นี้จะเตรียมเซ็นลงนามเพื่อให้ประกาศกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้

“ส่วนที่เอกชนกังวลว่าควรห้ามตั้งโรงงานเหล็กลวดด้วยนั้น ตนจะพยายามนำเรื่องนี้มาดูว่าเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน ล้นตลาดมากขนาดไหน ถ้าพบว่าล้นจริงเหล็กลวดก็จะคือรายต่อไปที่เราสามารถประกาศห้ามตั้งได้เช่นกัน”

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าวได้ระบุ 3 ส่วนประกอบด้วย

1.นิยาม “เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต” หมายถึง เหล็กเส้นที่มีลักษณะหน้าตัดกลม หรือเหล็กเส้นกลมที่มีบั้งหรือครีบ ซึ่งอาจนำไปใช้เสริมคอนกรีตสำหรับงานก่อสร้างทั่วไปได้ “เหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต” หมายถึง เหล็กแท่งเล็กสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีภาคตัดขวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือเหล็กแท่งเล็กสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีภาคตัดขวางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีด้านยาวไม่เกิน 1.25 เท่าของด้านกว้าง โดยมีความยาวด้าน 50 มิลลิเมตรถึง 150 มิลลิเมตร

2.กำหนดการห้ามตั้งหรือขยายโรงงาน กำหนดห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือโรงงานผลิตเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ซึ่งรวมถึงโรงงานที่ใช้เครื่องจักรที่สามารถนำไปใช้รีดเหล็กเส้นได้ทุกขนาด ทุกท้องที่ ทั่วราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่ประกาศฉบับนี้บังคับใช้

3.ข้อยกเว้นให้กับโรงงานที่ไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ ได้แก่

3.1 ผู้ประกอบการที่ผลิตเหล็กเพลา เหล็กลวด หรือเหล็กรูปพรรณที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีรีดร้อนหรือลวดเหล็กที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีการรีดเย็นที่ได้รับเอกสารการตรวจสอบกระบวนการผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์และลูกรีด จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

3.2 ผู้ประกอบการที่ได้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงาน (รง.3) หรือคำขอใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมฯ (กนอ. 01/1) ซึ่งได้รับความเห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรงแล้ว จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้