ฟาร์มดิ้นหาเงินแก้อหิวาต์หมู ระดมลงขัน-รัฐเจียดให้แค่ 148 ล้านบาท

แฟ้มภาพ

กลุ่มผู้เลี้ยงหมูดิ้นหาเงินป้องกันโรคอหิวาต์หมู ASF หลังโรคระบาดในพื้นที่ชายแดนล้อมประเทศไทยไว้ทุกด้าน วอนรัฐบาลช่วยออกสตางค์เพิ่มเพื่อนำมาใช้จ่ายในการป้องกันโรคบ้าง หลัง ครม.อนุมัติเงินแค่ 148 ล้านบาท แต่ต้องใช้ถึง 3 ปี ด้านกรมปศุสัตว์ประกาศเขตพื้นที่เสี่ยงสูงเพิ่มอีกที่จังหวัดเชียงใหม่

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงรายบริเวณที่แม่น้ำรวกไหลผ่าน โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย-เชียงแสน-เวียงแก่น ยังมีสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงและน่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากผู้เลี้ยงในจังหวัดเชียงรายส่วนใหญ่เป็นผู้เลี้ยงรายย่อยมาก ๆ เมื่อได้ยินข่าวการเกิดโรคระบาด ASF มีผลทำให้ผู้เลี้ยงบางส่วนเร่งขายหมูหนีก่อนที่จะถูกกรมปศุสัตว์เข้ามาทำลาย

โดยกรมปศุสัตว์ได้ประกาศพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค ASF (พื้นที่เสี่ยงสูง) เพิ่มขึ้นจาก 3 อำเภอเป็น 5 อำเภอ รวมถึง อ.แม่จัน-ดอยหลวง ในจังหวัดเชียงราย เพื่อทำเขตแนวกันชน (buffer zone) และยังมีข่าวว่า กรมปศุสัตว์มีแผนกำจัดหมูทั้งจังหวัดเชียงรายประมาณ 150,000 ตัว จากเกษตรกรผู้เลี้ยง 7,000 คนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ด้าน นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึงกองทุนเฝ้าระวังเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ของภาคเอกชนว่า ได้มีการลงขันมากกว่า 51 ราย นำโดย “กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP)-เบทาโกร” และยังมีการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนจากผู้เลี้ยงทั่วทุกภาคเข้ามาเรื่อย ๆ แต่สมาคมบางส่วนมีความเห็นอยากจะให้อธิบดีกรมปศุสัตว์เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเพื่อหาจัดสรรเงินงบประมาณภาครัฐเข้ามาใช้เฝ้าระวังป้องกันโรค ASF มากขึ้น

ทั้งนี้งบประมาณที่จะใช้เฝ้าระวังและป้องกันโรคที่ได้รับมาตกเฉลี่ยจังหวัดละ 500,000-600,000 บาทต่อปีเท่านั้น จากงบประมาณ 3 ปีที่ตั้งไว้ประมาณ 148 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้งบฯป้องกันเพียงเล็กน้อย แต่งบฯส่วนใหญ่จะใช้เมื่อเกิดโรคหรือเผชิญโรคแล้วเท่านั้น “ซึ่งไม่มีประโยชน์” โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมูรายย่อย 200,000 คนทั่วประเทศที่จะต้องเดือดร้อนจากการเกิดโรคระบาด เนื่องจากผู้เลี้ยงรายย่อยมีเพียง 2% เท่านั้นที่มีฐานะ นอกนั้นต้องกู้หนี้ยืมสินมาเลี้ยงหรือส่วนใหญ่เลี้ยงเพื่อการยังชีพ

“จากบทเรียนที่เกิดขึ้นในจีนช่วงเกิดโรค ASF ใหม่ ๆ หมูตายกว่า 200 ล้านตัว ราคาหมูเป็นตกต่ำเหลือ กก.ละ 20-30 บาท เพราะผู้บริโภคกลัว แต่ในขณะนี้พุ่งเป็น กก.ละ 120 บาท ส่วนใหญ่เป็นของผู้เลี้ยงรายใหญ่ที่มีระบบไบโอซีเคียวริตี้ในการเลี้ยงดี แต่ผู้เลี้ยงรายย่อยหายไปมากจากระบบการเลี้ยงไม่ดี เช่นเดียวกับในกัมพูชาที่เกิดโรค ASF ขณะนี้ราคาหมูเป็นเหลือ กก.ละ 40-50 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมากจนไทยเองก็ไม่ส่งหมูเข้าไปขายในเขมร จากปัจจุบันที่ราคาหมูเป็นไทยช่วงนี้อยู่ที่ กก.ละ 56-58 บาท แต่ก็ต้องดูช่วงปลายปีราคาหมูเป็นอาจพุ่งสูงขึ้นได้เมื่อผู้บริโภคเขมรหันกลับมากินหมูและปริมาณหมูในประเทศไม่เพียงพอ” นายนิพัฒน์กล่าว

ล่าสุด นายพงศ์พัฒน์ ขัตพันธุ์ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค ASF อย่างเข้มข้น แต่ยืนยันว่ายังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคเข้ามาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ล่าสุด นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงนามในประกาศให้ใช้กฎหมายควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และกฎหมายโรคระบาดสัตว์ มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กันยายนนี้เป็นต้นไป

“การเคลื่อนย้ายหมูเป็นหรือหมูชำแหละแล้วเข้ามาในพื้นที่เชียงใหม่ ทั้งที่มาจากต่างอำเภอของเชียงใหม่ หรือข้ามมาจากจังหวัดอื่น ๆ จะต้องมีใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายสุกรที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับการเคลื่อนย้ายสุกรจากเชียงใหม่ไปยังจังหวัดอื่นก็ต้องมีใบอนุญาตเช่นกัน นอกจากนี้เรายังเพิ่มความเข้มข้นของการเฝ้าระวังด้วยการตั้งด่านตรวจการเคลื่อนย้ายสัตว์ 4 จุดที่เป็นรอยต่อระหว่างอำเภอของเชียงใหม่กับจังหวัดเชียงราย ได้แก่ ด่านตรวจแม่อาย (เชียงใหม่)-แม่จัน (เชียงราย), ด่านพร้าว (เชียงใหม่)-เวียงป่าเป้า (เชียงราย), ด่านฝาง(เชียงใหม่)-แม่สรวย (เชียงราย) และด่านดอยสะเก็ด (เชียงใหม่)-เวียงป่าเป้า (เชียงราย) โดยห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายหมูเป็นเข้าไปยังพื้นที่จังหวัดเชียงราย เนื่องจากจังหวัดเชียงรายอยู่ในสภาวะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคแล้ว” นายพงศ์พัฒน์กล่าว