รัฐบาลไทยจุดพลุสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 130 ปี ดึงนักลงทุนกว่า 500 ราย สู่ขุมทรัพย์ EEC

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การจัดสัมมนาใหญ่ในหัวข้อ Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสสานสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 130 ปี ซึ่ง Mr.Hiroshige Seko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) นำคณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนระดับสูงจากญี่ปุ่นกว่า 500 ราย และนักลงทุนจากไทยอีก 500-600 รายเข้าร่วมรับฟังโอกาสแห่งความร่วมมือของภาครัฐบาล ภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่น ในการส่งเสริมและยกระดับการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศหารือแนวทางการยกระดับและสร้างอนาคตทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกัน

โดยญี่ปุ่นให้ความสนใจในนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พร้อมเตรียมให้การสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยด้วยการถ่ายทอดการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่

ทั้งยังจะผลักดันให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย อาทิ ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ Industry 4.0 ผ่านโครงการ Flex Campus ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับสถานทูตญี่ปุ่น ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระหว่าง สำนักงาน EEC กับ JICA และบริษัท Hitachi ความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและ JETRO เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ทางเมติยังได้นำคณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนระดับสูงจากญี่ปุ่นเข้าคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานงานนี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่แค่เพียงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ แต่เป็นหุ้นส่วนทั้งชีวิตของประเทศในระยะยาว เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่เหนือความไม่แน่นอน อยู่เหนือกาลเวลาและอยู่เหนือความขัดแย้งของโลก

ทั้งนี้ ในปี 2560 นับเป็นปีที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและญี่ปุ่น เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศได้ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเป็นเวลายาวนานถึง 130 ปี โดยความสัมพันธ์อันแนบแน่นนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายสาขากิจกรรมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและการเมือง ความร่วมมือทางการค้า การพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนการร่วมทุน-ลงทุน และการท่องเที่ยว เป็นต้น สำหรับในปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 รองจากจีน

โดยในช่วงครึ่งปีแรกญี่ปุ่นมีเงินลงทุนโดยตรงไปแล้วกว่า 4.73 หมื่นล้านบาท มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุดคิดเป็นอีกร้อยละ 55 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การผลิต Hybrid Vehicle มูลค่า 19,547 ล้านบาท กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ หรือเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ มูลค่า 15,182 ล้านบาท กิจการผลิตตัวยึดจับฮาร์ดดิสก์ มูลค่า 3,083 ล้านบาท ฯลฯ

นอกจากนี้จำนวนสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยยังมีจำนวนถึง 1,748 บริษัท ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศยังต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันอีกมาก และหลังจากนี้หน่วยงานต่างๆ ของไทยเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันนโยบายการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเกิดการขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นในบริบทและรูปแบบที่กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของรัฐบาลเองก็กำลังอยู่ในช่วงของการเร่งสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้เกิดการร่วมมือในระดับต่างๆ ที่สูงขึ้นได้ต่อไป

ภายในวันเดียวกันนี้ ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายในหลายๆ เรื่อง อาทิ 1) ความร่วมมือในการขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรม ฝั่งภาคเอกชนระหว่าง Keidanren, Japan Chamber of Commerce and Industry สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย

2) ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระหว่าง สำนักงาน EEC กับ JICA และบริษัท Hitachi

3) ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ Industry 4.0 โดยอาศัยองค์ความรู้จากฝั่งญี่ปุ่น ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยเพื่อช่วยพัฒนาวิศวกรและอาชีวศึกษาของไทยในอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ ผ่านโครงการ “Flex Campus”

4) ความร่วมมือในการยกระดับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ของไทยระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับองค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) 5) ความร่วมมือด้านการค้า ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ฯลฯ

อีกทั้ง ยังได้มีการจัด Business Matching ระหว่างนักธุรกิจญี่ปุ่นและไทยในกลุ่ม 5 อุตสาหกรรม 1) ยานยนต์ 2) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3) เกษตร อาหาร และสุขภาพ 4) ธุรกิจบริการ และ 5) หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินอีกด้วย