ประกันยางพาราทุบราคาดิ่ง รัฐอ่วมปล่อยพ่อค้าฟันกำไรส่วนต่าง

Thailand-economy-commodities-rubber-unrest,FOCUS by Pornchai KITTIWONGSAKUL A worker carries rubber sheets at market in Surat Thani province on September 5, 2013. Mounting anger among the kingdom's rubber farmers about the impact of a slump in demand on world markets poses a new challenge to Prime Minister Yingluck Shinawatra's two-year-old government. AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ราคายางตกหนัก หลังรัฐคิกออฟโครงการประกันรายได้ชาวสวน แค่เริ่มโครงการยางแผ่นรมควันชั้น 3 รูดลงกว่า 5 บาท กระทบยางก้อนถ้วยอีสาน เหตุพ่อค้ากดราคารับซื้อรายวันฟันกำไรส่วนต่าง เครือข่ายชาวสวน-ชุมนุมสหกรณ์ชี้นโยบายผิดพลาด รัฐแบกภาระแทนพ่อค้าหวั่น ธ.ค.เหลือโลละ 30 บาท กนย.อนุมัติวงเงิน 2.4 หมื่นล้าน เคาะจ่ายงวดแรก 1-15 พ.ย. แบ่งเจ้าของสวน-คนกรีด 60:40

ราคายางพาราในประเทศยังคงร่วงอย่างต่อเนื่องในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่รัฐบาลกำลังจะเริ่มโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพาราระยะที่ 1 โดยยางแผ่นดิบ ณ วันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ร่วงลงมาอีก 50 สตางค์ เหลือ กก.ละ 34.50 บาท น้ำยางสด กก.ละ 36 บาท และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เหลือ กก.ละ 37.73 บาท ราคายางพาราที่ร่วงลงเป็นรายวันนี้มีข้อสังเกตว่า เป็นการตกลงต่อเนื่องอย่างเป็นกระบวนการมาตั้งแต่เดือนต้นเดือนกันยายน 2562 จากระดับราคายางแผ่นดิบประมาณ กก.ละ 38.15 บาท น้ำยางสด 39 บาท และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ กก.ละ 42.37 บาทเท่ากับช่วงระยะเวลาเพียงเดือนเดียวก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มต้นโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางราคายางภายในประเทศร่วงไปแล้วเกือบ 5 บาท/กก.

กนย.เคาะประกันรายได้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงาน การประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) มีมติเห็นชอบ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 1,711,252 ราย (เจ้าของสวน-ผู้เช่า-ผู้ทำ 1,412,017 ราย คนกรีดยาง 299,235 ราย) ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับ กยท. ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ที่ปริมาณผลผลิตยาง (ยางแห้ง) 240 กก./ไร่/ปี หรือ 20 กก./ไร่/เดือน กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ตุลาคม 2562-มีนาคม 2563) โดยเงินประกันรายได้ที่จ่ายในแต่ละเดือนจะถูกแบ่งระหว่างเกษตรกรเจ้าของสวนยางและคนกรีดยาง ในสัดส่วน 60 : 40

“ราคาประกันรายได้จะแบ่งตามประเภทยาง โดยยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. โดยราคากลาง (ราคาอ้างอิง) จะกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคากลางอ้างอิง ประกาศทุก 2 เดือน และจะดำเนินการจ่ายเงินประกันรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง โดยให้ ธ.ก.ส.เป็นผู้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง โดยจะเร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับสิทธิ์รอบแรก ในวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562 งบประมาณในโครงการรวมทั้งสิ้น 24,278,626,534 บาท” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

รัฐจ่ายเงินชดเชยอ่วม

นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ รักษาการประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะเวลา 6 เดือน โดย ธ.ก.ส.จะจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกัน (กก.ละ 60 บาท) กับราคาอ้างอิง ที่จะประกาศ 2 เดือนต่อ 1 ครั้งนั้น เพื่อพิจารณาสถานการณ์ราคายางพาราในขณะนี้พบว่า ถ้าราคายางพาราในประเทศ “ขยับขึ้น” ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนยางมากนัก

แต่ถ้าราคายางพาราในตลาดตกต่ำลงมากกว่านี้อีก รัฐบาลก็จะต้องเพิ่มเงินชดเชยให้กับชาวสวนยางมากขึ้น ดังนั้น ผลสะท้อนกลับถึงรัฐบาล “ก็จะติดลบทันที” หากไม่มีมาตรการรองรับทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เตรียมไว้ ยกตัวอย่าง ยางแผ่นรมควัน รัฐบาลกำหนดเป้าหมายประกันรายได้ไว้ที่ กก.ละราคา 60 บาท/กก. ถ้ายางรมควันราคา 40 บาท/กก. รัฐบาลจะต้องชดเชย 20 บาท/กก. ส่วนน้ำยางสด รัฐบาลกำหนดประกันรายได้ราคา 57 บาท/กก. (DRC 100%) ถ้าราคาน้ำยางสดปรับลงไปอยู่ที่ 33-34 บาท/กก. รัฐบาลต้องจ่ายชดเชย 23-24-บาท/กก. และยางก้อนถ้วย 23 บาท/กก. (DRC 50%) อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ช่วยเหลือชาวสวนยางพาราให้คล่องตัวขึ้น

“ส่วนนโยบายโครงการต่าง ๆ ที่นำยางพารามาแปรรูปใช้ภายในประเทศและอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม ส่วนประเด็นการสวมสิทธิ์ยางพารา ผมคิดว่าคงไม่สามารถสวมได้ และยางพาราหนีภาษีคงไม่ลักลอบเข้ามา เพื่อเอาส่วนต่างราคาประกันรายได้ เพราะมีรายชื่อชาวสวนยางผู้มีสิทธิ์อยู่แล้ว และผู้ได้รับสิทธิตามโครงการประกันรายได้ จะต้องขึ้นบัญชีกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่จะต้องขึ้นทะเบียนกับ กยท. ในวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา” นายประยูรสิทธิ์กล่าว

นโยบายประกันผิดพลาด

ด้านนายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพาราถือเป็น “ความผิดพลาดทางนโยบายของรัฐบาล” เพราะรัฐบางต้องมารับภาระ “ส่วนต่าง” ราคายางในตลาดกับที่รัฐประกันไว้ค่อนข้างมาก ในขณะที่ราคายางตกต่ำลงทุกวัน ถือเป็น “การรับภาระแทนพ่อค้ายาง” และคาดว่าปริมาณยางที่จะออกมากในเดือนธันวาคมนี้ ราคาอาจจะตกลงเหลือเพียง กก.ละ 30 บาท เนื่องจากพ่อค้าจะกดราคารับซื้อยางแล้วไปขายราคาแพงในช่วงที่หมดระยะเวลาการประกันรายได้ของรัฐ

“ผมเห็นว่ารัฐบาลผิดพลาดมาตั้งแต่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการส่งออกยางตั้งแต่ปลายน้ำรวมไปถึงกลางน้ำ ทำให้ต่างชาติสามารถเข้ามาคุมราคาซื้อขายยางในประเทศได้ และยิ่งรัฐบาลผิดพลาดในการบริหารจัดการวัตถุดิบยางที่อยู่ในมือชาวสวนยาง ทำให้สถานการณ์ราคายางแย่ลงเรื่อย ๆ รัฐบาลควรใช้มาตรการให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยางโดยสมัครใจ โดยวัดหน้ายางก่อนหยุดกรีด เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ ลดปริมาณยางออกสู่ตลาด พ่อค้าจะได้รีบเข้ามาซื้อ ราคายางก็จะขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ใดขโมยกรีดยางถือว่ามีความผิดลักทรัพย์ ต้องมีบทลงโทษ” นายเพิกให้ความเห็น

รัฐปิดความเสี่ยงราคายางพ่อค้า

แหล่งข่าวในวงการค้ายางเปิดเผยว่า ราคายางภายในประเทศได้ตกต่ำลงอย่าง “ผิดปกติ” มาตั้งแต่รัฐบาลเริ่มที่จะขับเคลื่อนโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ด้วยการประกาศราคาประกันรายได้ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 60 บาท โดยระดับราคาประกันดังกล่าวกลายเป็น “เป้า” ให้พ่อค้ายางภายในประเทศ “ไล่ทุบ” ราคายางลงมา จากการคาดการณ์ “ราคาอ้างอิง” เพื่อคิดส่วนต่างเงินชดเชยให้กับชาวสวนยางที่จะต้องคำนวณจากพื้นฐานราคาซื้อขายยางในประเทศทุก ๆ 45 วัน

“พ่อค้ายางมีเป้าที่จะต้องกดราคารับซื้อยางในประเทศให้ต่ำที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงราคายางในตลาดโลกที่ผันผวนมาก ยิ่งกดราคาต่ำลงได้เท่าใดก็จะปิดความเสี่ยงราคาส่งออกยาง และไม่ต้องกังวลว่าราคายางที่กดให้ต่ำลงมาจากความเป็นจริง แล้วชาวสวนยางจะอยู่ไม่ได้ เพราะรัฐบาลได้เข้ามารับภาระส่วนต่างของราคาด้วยการจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวสวนไปแล้ว ชาวสวนยางก็จะไม่มีเหตุผลที่จะไม่ขายยางทุกช่วง 45 วัน ตามการประกาศราคาอ้างอิง เมื่อราคายางในประเทศตกลงมาก ๆ พ่อค้าก็จะเข้าไปช้อนซื้อยางในราคาถูกกว่าปกติมาเก็บสต๊อกไว้ เมื่อยางพาราในตลาดโลกขยับขึ้นก็จะทยอยขายยางออกมากินส่วนต่างกำไรที่มากขึ้นกว่าการซื้อขายยางตามปกติ เท่ากับโครงการประกันรายได้ยางของรัฐบาลแบกรับความเสี่ยงทางด้านราคาแทนพ่อค้าผู้ส่งออกไปแล้วนั่นเอง” แหล่งข่าวกล่าว

ช้าเดือนเดียวควักเพิ่มโลละ 5 บ.

ล่าสุดมีการคำนวณการจ่ายเงินชดเชย “ส่วนต่าง” ระหว่างราคาประกันรายได้ (60 บาท/กก.) กับราคาอ้างอิงที่จะต้องประกาศก่อนที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนยาง หากโครงการนี้เริ่มต้นในเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลโดย ธ.ก.ส.จะจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนประมาณ กก.ละ 18 บาท (ราคาประกัน 60 บาท-ราคาอ้างอิงคาดการณ์ 42 บาท) แต่เนื่องจากมีกระบวนการทุบราคายาง

ภายในประเทศเกิดขึ้น ราคายางตกเป็นรายวันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ณ ปัจจุบันราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ กก.ละ 37.73 บาท ดังนั้นหากรัฐบาลเริ่มโครงการประกันรายได้ยาง รัฐบาลโดย ธ.ก.ส.จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนประมาณ กก.ละ 23 บาท เท่ากับเพียงเดือนเดียวที่ราคายางถูกทุบลงมา รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นถึง กก.ละ 5 บาท

ยางก้อนถ้วยป่วนหนัก

แหล่งข่าวชาวสวนยางเปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดปัญหายางทั้งระบบ จากสถานการณ์ราคายางก้อนถ้วยปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยราคาล่าสุด ณ วันที่ 4 ตุลาคม ราคายางก้อนถ้วยแห้ง 100% ผู้ซื้อในตลาดท้องถิ่นปรับลดลงหมด อาทิ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ รับซื้อราคา กก.ละ 29 บาท ขณะที่บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (บุรีรัมย์) รับซื้อ กก.ละ 28.50 บาท บริษัท รับเบอร์แลนด์ (บุรีรัมย์) รับซื้อ กก.ละ 28 บาท และกองจัดการโรงงาน 4 (ศรีสะเกษ) ประกาศหยุดรับซื้อ ประเด็นนี้ส่งผลให้เกิดปัญหา “คนกรีดขโมยยางไปขาย” ในจุดรับซื้อย่อยในพื้นที่ต่าง ๆ แทน เพื่อจะไม่ต้องแบ่งค่ากรีดกับเจ้าของสวน ทำให้ชาวสวนขาดทุนสูญเสียผลผลิต ขณะที่ฝั่งสหกรณ์ยางพาราก็เกิดปัญหาขาดทุนเช่นกัน เพราะซื้อแพงต้องขายถูก จากสถานการณ์ราคายางลดลงเรื่อย ๆ และสมาชิกเบี้ยวไม่นำยางมาขายเพราะไม่ต้องการชำระหนี้เงินกู้ มาตรการนี้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ (บัตรชมพู) ไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งบางวิสาหกิจมีกลุ่มนี้มากกว่า 50%

8 เดือนส่งออกยางลดแสนตัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการส่งออกยางในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) มีปริมาณ 2.19 ล้านตัน ลดลง 158,346 ตัน จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 2.35 ล้านตัน ส่วนมูลค่า 92,057 ล้านบาท ลดลง 9,001 ล้านบาท จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 101,058 ล้านบาท โดยผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับหนึ่ง ยังเป็นบริษัท วงศ์บัณฑิต รองลงมาได้แก่ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี, เซาท์แลนด์ รีซอร์ซ, ไทยฮั้วยางพารา, ถาวร อุตสาหกรรมยางพารา (1982), บริดจสโตน เนเชอรัล รับเบอร์ (ประเทศไทย), ไทยเทค รับเบอร์ คอร์ปอเรชั่น, ไทยแมค เอสทีอาร์, ยางไทยปักษ์ใต้ และเซาท์แลนด์รับเบอร์