“บิ๊กตู่”นำทัพเยือนเกาหลี WHA ปล่อยหมัดดูดลงทุน

WHA เปิดแผนระยะสั้น-ยาว รับนักลงทุนเกาหลีใต้ตามคำสั่ง “สมคิด” กัน 500 ไร่ในนิคมฯอีสเทิร์นซีบอร์ด 3 ชลบุรี และนิคมฯระยองใหม่อีก 1,000 ไร่ มั่นใจปี”62 ยอดขายที่ดินทะลุเป้า 1,400 ไร่ เผยบิ๊กตู่-บีโอไอ เตรียมบินเกาหลี 25-26 พ.ย. หวังดึงการลงทุนเพิ่ม ขอลุ้นโครงสร้างพื้นฐานปี”63 หวังดึงอันดับความสามารถในการแข่งขันขึ้น หลังร่วงมา 2 อันดับ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า WHA ได้กำหนดแผนระยะสั้นและยาว เพื่อรองรับการลงทุน ตามที่รัฐบาลมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมอบให้เอกชน กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมพื้นที่รองรับการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศเกาหลี

โดยแผนระยะสั้น จะจัดสรรพื้นที่เดิมของนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 3 ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี 500 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 2,200 ไร่ เพื่อสำรองไว้สำหรับนักลงทุนเกาหลีที่พร้อมจะลงทุนได้ทันที ส่วนแผนระยะยาว เตรียมจะใช้โครงการใหม่ของนิคมอุตสาหกรรมที่ จ.ระยอง 1,000 ไร่ ซึ่งเตรียมจะเปิดให้บริการในปี 2563 เพื่อมารองรับนักลงทุนเกาหลีใต้ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจลงทุนในอนาคต โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่สนใจลงทุน คือ อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เช่น อเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

“ทราบว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปเกาหลีใต้ ประมาณวันที่ 25-26 พ.ย. 2562 ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีแผนกำหนดการที่จะเดินทางร่วมไปด้วย แต่จะเป็นการไปโรดโชว์หรือไม่นั้นยังไม่มั่นใจ แต่แน่นอนว่าบีโอไอเขาไปอยู่แล้ว ก็คาดว่าจะนำเรื่องแพ็กเกจการลงทุนไปเสนอ และชักจูงการลงทุนด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ WHA ยังได้หารือกับนักลงทุนรายอื่น ๆ เช่นกัน ทั้งจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่นถึง 50 ราย และกว่า 50% ยังคงเป็นจีนกับไต้หวัน ซึ่งนักลงทุนจีนเองก็มีความต้องการอยากให้ทำนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับนักลงทุนจีนโดยเฉพาะเช่นกัน

“สำหรับยอดขาย WHA ปี 2562 คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1,400 ไร่ โดยล่าสุดช่วง 10 เดือนแรก 2562 ได้เตรียมทำสัญญาซื้อขายพื้นที่แล้ว 1,200 ไร่ เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนในการขายที่ดินอีก 200 ไร่ จึงไม่ใช่เรื่องยาก”

ขณะเดียวกัน หากประเมินภาพรวมการลงทุนทั้งประเทศ ครึ่งปีหลังมองว่ามีความตื่นตัวดีกว่าครึ่งปีแรก และแม้ว่าดัชนีขีดความสามารถทางการแข่งขัน (WEF) ของไทย ปี 2562 จะสูงขึ้นมาเป็น 68.1 คะแนน แต่อันดับของไทยกลับลดลง 2 อันดับ มาอยู่ที่ 40 จากอันดับ 38 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของโครงการก่อสร้างพื้นฐาน ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแซงขึ้นมาได้ถึง 10 อันดับดังนั้น ไทยต้องเร่งให้เกิดโครงการเหล่านี้โดยเร็ว และดึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ๆ

อย่าง New S-curve เข้ามา ทั้งนี้ ปลายปีและต้นปีหน้าหากเกิดโครงการตามแผนก็น่าจะส่งผลให้ไทยมีอันดับกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งจะต้องรอประเมินอีกครั้งในปี 2563