3 มาตรการบีโอไอ ดูดเงินลงทุน 7.5 แสนล้าน

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประกาศใช้กฎหมายใหม่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2560 ที่กำหนดการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี บวกกับลดหย่อนภาษีรายได้นิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี รวมเป็น 13 ปี โดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)ขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน บีโอไอยังได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 หรือกองทุน 10,000 ล้านบาท ที่กำหนดการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 15 ปี โดยอุตสาหกรรมจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุน จะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับการทำวิจัย นวัตกรรม ผ่านมา 2 ปี หลังจากมาตรการดึงดูด

การลงทุนตามกฎหมายดังกล่าว “นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในส่วนพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถฯ ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุน แต่การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 15 ปีนั้น “จำเป็นจะต้อง” เป็นอุตสาหกรรมที่มีอิมแพ็กต์ต่อประเทศสูงจริง ๆ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ระหว่างการเจรจา 4-5 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไม่ช้า

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานช่วยวิเคราะห์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความสำคัญต่อประเทศ ล่าสุด การเจรจาภายใต้ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถฯใกล้ได้ข้อสรุป และคาดว่าในปีงบประมาณ 2563 นี้ ทางบีโอไอจะมีการอนุมัติเงินกองทุนดังกล่าวให้กับนักลงทุนที่ได้ยื่นขอเข้ามาแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับเป็นมาตรการภาพใหญ่ในการส่งเสริมการลงทุน แต่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องใช้เครื่องมือมาตรการเสริมมาช่วยกระตุ้นการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายในแต่ละปีที่วางไว้ 750,000 ล้านบาท

เป็นเหตุให้ “บีโอไอ” ทยอยคลอดมาตรการยาแรงเพื่อดึงนักลงทุนรายใหญ่ ให้เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม พัฒนาบุคลากร และให้สอดรับกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ก็ได้ร่างพ.ร.บ. EEC เฉพาะของตนเองขึ้นมา จึงนำมาสู่การออก “มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC” ที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8-13 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 5 ปี สำหรับ 9 อุตสาหกรรม S-curve ที่ลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษและนิคมอุตสาหกรรม

ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และเพื่อเร่งรัดการลงทุนปลายปี 2561 บีโอไอได้ใช้ “มาตรการปีแห่งการลงทุน 2562” ออกมาพิเศษที่มีระยะเวลาในการให้นักลงทุนตัดสินใจเพียง 1 ปีเท่านั้น ซึ่งให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่ลงทุนภายในปี 2562 นี้จะได้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ต่อไปอีก 3 ปี นับจากวันสิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของแต่ละโครงการ และต้องมีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

ไม่หยุดเพียงเท่านั้น รัฐยังได้ออก “Thailand Plus Package” มาตรการส่งเสริมแบบให้สิทธิพิเศษพลัส ท่ามกลางสงครามการค้า ซึ่งรัฐคาดหวังว่ามาตรการนี้จะดึงเหล่าบรรดานักลงทุนที่อยู่ระหว่างตัดสินใจย้ายฐานการลงทุนมาปักฐานการผลิตที่ไทย โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 ซึ่งยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี ที่ตั้งนอกกรุงเทพมหานคร ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 5 ปี

หลังจากนี้ต้องรอพิสูจน์ว่า 3 มาตรการ จะออกฤทธิ์ดึงดูดนักลงทุนให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่