“จุรินทร์”ทุบโต๊ะห้ามอ้าง”ค่าแรง”ขอขึ้นราคาสินค้า

“จุรินทร์” กางปีกคุมราคาสินค้าหลังขึ้นค่าแรง กระทบแค่ไม่ถึง 1% ย้ำไม่มีนโยบายปรับขึ้นราคา จี้พาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคา ขณะที่ภาคเอกชน ยอมรับต้องแบกรับภาระต้นทุนมากขึ้นอาจจะเห็นโรงงานปิดเพิ่ม แนะรัฐควรเพิ่มทักษะแรงงานมากกว่า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ครั้งที่ 6/2562 ที่มีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ได้มีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 เฉลี่ย 5-6 บาทเป็น 313-336 บาทต่อคนต่อวัน ตามพื้นที่ โดยมี 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ภูเก็ต ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ที่ได้รับการปรับขึ้น 6 บาท ส่วนจังหวัดที่เหลือ 68 จังหวัดจะปรับขึ้น 5 บาท

ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้ปรับขึ้นสูงสุด คือ ชลบุรีและภูเก็ต อัตรา 336 บาทต่อคนต่อวัน ส่วนจังหวัดที่ปรับขึ้นน้อยสุด มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาทเป็น 313 บาทต่อคนต่อวัน โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้ทันประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การดูแลค่าครองชีพในปี 2563 กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีนโยบายจะพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาสินค้า แม้ว่าขณะนี้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงงาน 5-6 บาทต่อวัน แต่ทางกรมการค้าภายในได้วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนค่าแรงที่ปรับขึ้นแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตมากนัก พร้อมกันนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน ติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคา

“กระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการประกันรายได้ต่อเนื่องไป พร้อมกับเดินหน้ามาตรการคู่ขนานเพื่อดูแลราคาสินค้าเกษตร เป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคา อีกทั้งยังให้ความสำคัญเรื่องการติดตามดูแลการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศและกระทบต่อโครงการประกันรายได้ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากได้รับรายงานว่ามีการลักลอบนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังเตรียมจัดกิจกรรม New Year Grand Sale ลดปัง ข้ามปีขึ้นระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2562-12 มกราคม 2563 โดยร่วมมือกับเอกชนในการนำสินค้าอุปโภคบริโภคมาลดราคาจำหน่ายสูงสุดถึง 70% เพื่อลดค่าครองชีพ”

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จากที่กรมวิเคราะห์ผลกระทบจากกรณีที่รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับในวันที่ 1 มกราคม 2563 จากเดิม 325 บาท ปรับเป็น 331 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 6 บาทต่อวัน หรือ 1.85% กระทบต่อราคาสินค้าน้อยมากเฉลี่ย 0.006% ถึง 0.6% เท่านั้น ไม่ถึง 1% โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เครื่องแบบนักเรียน 0.6041% ขณะที่สินค้าที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ ยาสีฟัน 0.0061%

สำหรับสินค้าอื่นที่ได้รับผลกระทบ เช่น น้ำส้มสายชู แป้งเด็ก หลอดไฟฟ้า ยางรถยนต์นั่ง ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ถุงพลาสติก ปุ๋ยเคมี นมผง ตู้เย็น รถยนต์บรรทุกเล็ก เหล็กแผ่นรีดร้อน น้ำมันหล่อลื่น อาหารสัตว์ รองเท้านักเรียน เป็นต้น ซึ่งโดยเฉลี่ยกระทบน้อยไม่ถึง 1% แต่ละรายการจะกระทบไม่เท่ากัน ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องเชิญผู้ประกอบการมาหารือหรือขอความร่วมมือ แต่ทางกรมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงยอมรับว่าจะมีผลต่อรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ที่ต้องเพิ่มขึ้น แต่หากอยู่ในภาวะที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทางผู้ส่งออกต้องประสบปัญหาจากค่าเงินบาทแข็งค่าสงครามการค้า มาตรการการจัดเก็บภาษี เป็นการบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และอาจจะกระทบต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารไทยในอนาคตได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐดูแลมากกว่า คือ การยกระดับคุณภาพของแรงงาน สำรวจกลุ่มอาชีพที่ตลาดต้องการ สนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าพัฒนาฝีมือแรงงานให้ทันตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

รายงานข่าวจากกลุ่มภาคอุตสาหกรรม ต่างยอมรับว่า การปรับขั้นค่าแรงเป็นการซ้ำเติมภาคเอกชน ทำให้อาจต้องเปลี่ยนโดยการนำเทคโนโลยีมาทดแทน หรืออาจจะเห็นการปิดโรงงานเพิ่มขึ้นจากภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น แข่งขันไม่ได้