เปิดพิมพ์เขียวแผนน้ำ EEC ฐานลงทุนอุตฯ S-curve 3.5 แสนล้าน

นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับการพัฒนาประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมมากขึ้น ล่าสุดช่วง 11 เดือนแรกปีนี้มีผู้ประกอบการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 520 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 1.02 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 3.5 แสนล้านบาท

เมื่อการลงทุนขยายตัวมากขึ้น ความต้องการใช้ทรัพยากรในพื้นที่จึงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะ “ทรัพยากรน้ำ” กำลังเป็นประเด็นท้าทายของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะปีนี้ภาคตะวันออกอาจประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงที่สุดในรอบ 14 ปี เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนกักเก็บน้ำในภาคตะวันออกเกือบทุกแห่งลดลง มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 743 ล้าน ลบ.ม. หรือ 53% สวนทางปริมาณความต้องการใช้น้ำใน EEC ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเจ้าภาพหลักจึงได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำใน EEC ทั้งระบบ เมื่อ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา และส่งไม้ต่อให้กรมชลประทานประชุมร่วมกับภาคอุตสาหกรรม การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ภาคเกษตรกรรม และประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ วันที่ 12 ธ.ค.นี้ที่ จ.ชลบุรี

EEC ความต้องการใช้น้ำเพิ่ม 670 ล้าน ลบ.ม.

ข้อมูล สทนช.ประเมินภาพรวมการใช้ประโยชน์ที่ดินใน EEC ปี 2560 พื้นที่รวม 13,342.94 ตร.กม. แบ่งเป็นการใช้พื้นที่เกษตรกรรม 8,625.77 ตร.กม. รองลงมาคือ ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 1,736.25 ตร.กม. ป่าไม้ 1,635.14 ตร.กม. อุตสาหกรรม 388.83 ตร.กม. พื้นที่แหล่งน้ำ 375.74 ตร.กม. พื้นที่อื่น ๆ 579.22 ตร.กม. พื้นที่เบ็ดเตล็ด 1.99 ตร.กม. และคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ที่ 2,419 ล้าน ลบ.ม. จากความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออกทั้งหมด 4,167 ล้าน ลบ.ม.

ขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำใน EEC อีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2580 จะเพิ่มขึ้นอีก 670 ล้าน ลบ.ม. เป็น 3,089 ล้าน ลบ.ม. โดยจังหวัดที่มีความต้องการใช้น้ำสูงสุด คือ ฉะเชิงเทรา ตามด้วยระยองและชลบุรี แบ่งตามสัดส่วนการใข้น้ำ 3 กลุ่มหลัก คือ ความต้องการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมสูงสุด 60-65% เพิ่มขึ้นจาก 1,562 เป็น 1,832 ล้าน ลบ.ม. ทั้งพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทาน และเกษตรกรรมตามแผนพัฒนา รองลงมาคือ น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 25-28% จะเพิ่มขึ้นจาก 606 เป็น 865 ล้าน ลบ.ม. น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค 10-12% จาก 251 เป็น 392 ล้าน ลบ.ม. ทั้งชุมชนในเขตพื้นที่ให้บริการ กปภ. และชุมชนนอกเขตพื้นที่ให้บริการ รวมถึงเขตเมืองใหม่ และพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษ

20 ปีเพิ่มซัพพลายน้ำ 872.2 ล้าน ลบ.ม.

สทนช.จึงได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งด้านการบริหารซัพพลายน้ำ (supply side) โดยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพิ่มความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ ปรับปรุงโครงสร้างรองรับน้ำเดิมและพัฒนาแหล่งน้ำใหม่เพิ่มเติม และด้านการบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ (demand side) โดยใช้มาตรการ 3Rs เพื่อลด-ส่งเสริม-เพิิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ

ตามแผนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอีก 20 ปีข้างหน้าได้อีก 872.2 ล้าน ลบ.ม. จากโครงการที่มีอยู่เดิม 1,368 ล้าน ลบ.ม. ดังนี้ 1) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เสนอตามแผนปี 2563-2570 รวม 629.2 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางใหม่ 10 แห่ง ความจุ 208.7 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงอ่างเดิม 6 แห่ง 91.5 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงระบบเครือข่ายน้ำเดิม 1 แห่ง ก่อสร้างระบบเครือข่ายน้ำใหม่ 2 แห่ง 20 ล้าน ลบ.ม. ระบบสูบกลับ 1 แห่ง 50 ล้าน ลบ.ม. โครงการ Industridl Wall Field 12 ล้าน ลบ.ม. การพัฒนาพื้นที่แก้มลิง 200 ล้าน ลบ.ม. และบ่อเอกชน (สระทับมา)47 ล้าน ลบ.ม.

2) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนงานหน่วยงานปี 2571-2580 มีปริมาณน้ำเพิ่มอีก 91 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย อุโมงค์ส่งน้ำ 1 แห่ง ขนาด 60 ล้าน ลบ.ม. ระบบสูบกลับ 2 ระบบ 31 ล้าน ลบ.ม. 3) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เสนอระหว่างปี 2563-2570 รวม 77 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย การปรับปรุงระบบเครือข่ายน้ำเดิม 1 แห่ง 20 ล้าน ลบ.ม. ระบบสูบกลับ 1 แห่ง 50 ล้าน ลบ.ม. การขุดลอก 1 โครงการ 7 ล้าน ลบ.ม. การพัฒนาแหล่งน้ำเสริมศักยภาพ 50-75 ล้าน ลบ.ม. 4) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เสนอระหว่างปี 2571-2580 โดยวางเครือข่ายน้ำ 2 ระบบ รวม 75 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ เตรียมน้ำจากแหล่งอื่น ๆ เช่น น้ำจัดสรรจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้ง ปีละ 597 ล้าน ลบ.ม. และจัดหาน้ำบาดาล

สำหรับแผนลงทุนในปี 2563 จะมี 5 โครงการ คือ ระบบสูบกลับ คลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ขนาด 50 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองกระแส 18.12 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มความจุอ่างหนองค้อ 2 ล้าน ลบ.ม. และอ่างมาบประชัน 0.6 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มประสิทธิภาพสูบน้ำบางปะกง-อ่างบางพระ 20 ล้าน ลบ.ม.

บริหารจัดการดีมานด์ไซด์คู่ขนาน

ส่วน “แผนบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ” ตั้งเป้าว่าปี 2580 ภาคเกษตรต้องเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานอีก 5% ในปี 2570 ด้วยการปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ภาคอุตสาหกรรมต้องเพิ่มมาตรการให้มีบ่อสำรองน้ำ ควบคู่กับการใช้มาตรการ 3Rs หรือ reduce/reuse/recycle ให้ได้ 20% ในอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำขนาดใหญ่นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ 98 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จากปริมาณน้ำที่ใช้ 490 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ภาคอุปโภคบริโภคต้องเน้น 3Rs ให้ได้ 10% ลดน้ำสูญเสียทางท่อส่ง ท่อจ่ายน้ำประปา ไม่ให้เกิน 20%

ชี้ปัดฝุ่นแผนน้ำกรมชลฯรับ EEC

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาอ่างกักเก็บน้ำเดิมที่เคยมีอยู่ในแผนเดิมที่กรมชลประทานเคยนำเสนอตั้งแต่เกิดภาวะวิกฤตภัยแล้งเมื่อปี 2548 จะมีโครงการใหม่เพิ่มมาก็เพียง 1 โครงการ คือ โครงการเครือข่ายน้ำคลองวังโตนด อ่างประแสร์ เส้นที่ 2 เท่านั้น ยังเป็นความท้าทายต่อไปว่า แผนนี้อาจไม่สามารถรองรับ EEC ซึ่งจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มอีกมหาศาล

ขณะเดียวกัน คนในพื้นที่ก็สะท้อนว่า “โครงการใหม่ที่เพิ่มมา” นั้น อาจแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เนื่องจากโครงการแรกที่ระบบท่อผันน้ำพร้อมอาคารประกอบจากคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ที่ใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาทเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถผันน้ำมาใช้ได้ เนื่องจากยังติดประเด็นที่คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาวังโตนดต้องการให้กรมชลฯเร่งก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี (อ่างฯคลองประแกด, อ่างฯคลองพะวาใหญ่, อ่างฯคลองหางแมว และอ่างฯวังโตนด) ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มรวม 308.56 ล้าน ลบ.ม. ให้เสร็จก่อนจึงค่อยผันน้ำส่วนเกินมาช่วยอีอีซี และหากก่อสร้างท่อผันน้ำแห่งที่ 2 จะต้องวางแผนสร้างอ่างเก็บน้ำที่จะรองรับท่อให้เพียงพอด้วย

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม… ประกาศแล้ว! แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค พื้นที่ EEC รวม 5 จังหวัด