สกัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จีนทะลัก พาณิชย์ออกประกาศห้ามนำเข้า

“พาณิชย์” จ่อคลอดประกาศห้ามนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” สกัดปัญหามลพิษ มูลนิธิบูรณะนิเวศฯ เผยเหตุขยะจีนทะลักข้ามพรมแดนเข้าไทย หลังรัฐบาลจีนงัดมาตรการเข้มสกัดนำเข้าขยะ 3 ปี พ่อค้าดันส่งออกมาไทย ทุบราคาของเก่าดิ่ง กระทบธุรกิจรีไซเคิล-นโยบายบริหารจัดการขยะไทย จับตาผู้นำเข้าเปลี่ยนหนีพิกัด 899 สวมรอยนำเข้าต่อ

ปัญหาขยะเป็นประเด็นที่รัฐบาล ให้ความสำคัญ โดยได้ประกาศจุดยืนในเวทีอาเซียนว่าจะลดปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล ทว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธุรกิจรับซื้อของเก่าออกมาสะท้อนถึงสถานการณ์การทะลักขยะนำเข้าจากต่างประเทศ จนทำให้ “ซัพพลายขยะ” ในประเทศล้นตลาด และกระทบต่อราคารับซื้อของเก่าปรับตัวลดลง เช่น กระดาษเก่าที่เคยรับซื้อ กก.ละ 4-5 บาท ปัจจุบันเหลือ กก.ละ 0.50-1.00 บาท ราคาเศษเหล็กลดลง กก.ละ 5-6 บาทเหลือ 12-15 บาท เศษพลาสติกเหลือ 12-15 บาท

ล่าสุดนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2563 กรมการค้าต่างประเทศเตรียมประกาศกำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ “ต้องห้าม” ในการนำเข้า ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งออกและนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2522 หลังจากที่กรมได้เปิดรับความเห็นทุกภาค ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.-12 ธ.ค. ที่ผ่านมา

“ปัญหาขยะเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาได้ประกาศห้ามนำเข้าขยะเทศบาลไปแล้ว แต่ยังเหลือขยะอีกหลาย ๆ ประเภทขยะพลาสติก ขยะรีไซเคิล และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตอนนี้จะเริ่มกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ก่อน จุดประสงค์หลักของประกาศนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทิ้งในไทย อย่ามองว่าประเทศไทยเป็นที่ทิ้งขยะ”

หลักการของประกาศฯ จะกำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากร 84 และพิกัด 85 เฉพาะรหัสย่อย 899 ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ที่กำหนดไว้หมายถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ตามบัญชี 5.2 ลำดับที่ 2.18 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 เบื้องต้นมีจำนวน 428 รายการ เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า

นายกีรติกล่าวว่า กระบวนการหลังจากนี้ กรมจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดปรับปรุงร่างฯ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ทั้งนี้ การออกประกาศกระทรวงพาณิชย์เพื่อห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการออกประกาศเพื่อห้ามโรงงานใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในโรงงาน

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากผลการศึกษาผลกระทบจากการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ พบว่า จีนส่งออกขยะมายังประเทศไทยสูงสุดภายหลังจากรัฐบาลจีนทยอยประกาศมาตรการห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศมา 3 ฉบับตั้งแต่ปี 2560-2562 ทำให้ขยะไหลมาไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพลาสติก จากกำแพงภาษีนำเข้าเป็น 0% หลังมีความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี

ประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบ 2 ด้าน คือ ปริมาณขยะนำเข้าทำให้ซัพพลายขยะในประเทศล้น ราคาตก กำไรลดลงก็ไม่จูงใจให้มีการลงทุนธุรกิจรีไซเคิล กระทบต่อการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาขยะในภาพรวม ทั้งยังไม่จูงใจให้ประชาชนแยกขยะไปขาย และโรงงานรีไซเคิลจะหันไปนำเข้าขยะนำเข้าที่แยกแพ็กมา เพราะสะดวกต่อการใช้และราคาถูก ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นแหล่งทิ้งขยะ เพราะประเทศอื่นไม่ลงทุนธุรกิจรีไซเคิลที่มีต้นทุนสูงกว่า ส่งออกมาทิ้งที่ไทย ดังนั้นรัฐบาลควรดูแลการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลควบคู่ไปด้วย เพราะยังไม่มีระบบควบคุมมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

“เห็นด้วยที่กระทรวงพาณิชย์จะออกประกาศห้ามนำเข้าขยะพิกัด 84 และ 85 รหัสย่อย 899 โดยสิ้นเชิง ในกลุ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์ 428 รายการ จะสอดคล้องกับอนุสัญญาบาเซิลที่ห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน แต่เว้นเฉพาะประเทศที่รัฐบาลมีการตกลงกัน”

แต่กังวลว่าจะมีการนำเข้าโดยแอบอ้างไปเป็นพิกัดย่อยรหัส 800,000,090 แทน ซึ่งต้องระวังจะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้กลุ่มนี้ และการที่กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศอย่างเดียวไม่พอ เพราะคนที่คุมอนุญาตนำเข้าคือกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมโรงงานฯระบุว่า ประเทศมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ (ตามบัญชี 5.2 ลำดับที่ 2.18) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2560 โดยปริมาณนำเข้า 53,291 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 472% และปี 2561 มีการนำเข้า 38,423 ตัน โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีปริมาณนำเข้ารวม 104,660 ตัน

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามนิยามของร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ จำกัดไว้เฉพาะรหัสสถิติ 899 แห่งกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งเป็นแค่ส่วนย่อยภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรประเภท 84 และประเภท 85 เท่านั้น โดยตามนิยามดังกล่าว ที่ผ่านมามีเพียงบริษัท ฟูจิซีร็อกซ์ เพียงบริษัทเดียว ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ และไม่ได้มีการออกใบอนุญาตเพิ่มเติมอีก การที่ทางกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าควรจะกำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า ตนก็เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะหลายประเทศในโลกก็ห้ามกันหมดแล้ว

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มาคัดแยกในไทยส่งผลให้เกิดปัญหาสารโลหะหนักตกค้างกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีนโยบายให้ดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าโดยยืนตามมติคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบที่ได้เคยมีมติไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ให้กรมโรงงานส่งรายชื่อสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ ให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศห้ามนำเข้า แต่ผ่านมา 1 ปีแล้วยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ หากกระทรวงพาณิชย์ประกาศรายการออกมาแล้วทาง คพ.จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดำเนินมาตรการติดตามดูแลต่อไป

“ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามาคัดแยกในไทยอาจจะปนเปื้อนสารโลหะหนักกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต้องห้ามนำเข้า ส่วนขยะพลาสติกที่ประชุมมีมติให้กำหนดเป็นโควตา ปีแรก ปี 2561 ให้นำเข้า 70,000 ตัน ใช้ในประเทศ 30,000 ตัน ปี 2562 ให้นำเข้า 40,000 ตัน ใช้ในประเทศ 60% เนื่องจากขยะพลาสติกจะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม หากจะพิจารณาดำเนินมาตรการอะไร จำเป็นต้องดูว่ามีการผลิตเพียงพอหรือไม่ เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้ขยะพลาสติกเป็นวัตถุดิบ”