ค้าชายแดน-ผ่านแดน 11 เดือนปี62 ลดลง 2.97% ผลกระทบจากค่าเงินบาท สงครามการค้า

ค้าชายแดน-ผ่านแดน 11 เดือนปี 62 ลดลง 2.97% ผลกระทบจากค่าเงินบาท สงครามการค้า ส่วนมาเลเซียยังเป็นคู่ค้าชายแดนอันดับหนึ่งของไทย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย 11เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,231,862 ล้านบาท ลดลง 2.97% เป็นการส่งออก 687,404 ล้านบาท ลดลง 2.62% และการนำเข้า 544,459 ล้านบาท ลดลง 3.42% ซึ่งเกินดุลการค้า 142,945 ล้านบาท โดยแยกเป็นการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มูลค่า 985,114 ล้านบาท ลดลง 4.03% เป็นการส่งออก 560,078 ล้านบาท ลดลง 5.46% นำเข้า 425,036 ล้านบาท ลดลง 2.07%เกินดุลการค้า 135,042 ล้านบาท และการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ มูลค่า 246,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.47% เป็นการส่งออก 127,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.22% นำเข้า 119,422 ล้านบาท ลดลง 7.93% เกินดุลการค้า 7,903 ล้านบาท

ทั้งนี้ การค้าชายแดน มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มูลค่า 476,153 ล้านบาท ลดลง 8.76% เป็นการส่งออก 231,743 ล้านบาท ลดลง 13.06% นำเข้า 244,409 ล้านบาท ลดลง 4.26% รองลงมาคือ สปป.ลาว มูลค่า 181,808 ล้านบาท เมียนมา มูลค่า 180,737 ล้านบาท และกัมพูชา มูลค่า 146,416 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดนจีนตอนใต้มีมูลค่าสูงสุด มูลค่า 118,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.31% เป็นการส่งออก 49,708 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.19% นำเข้า 68,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.64% รองลงมาคือ สิงคโปร์ มูลค่า 67,665 ล้านบาท และเวียดนาม มูลค่า 60,501 ล้านบาท

สถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดนลดลง โดยมีปัจจัยกระทบจากค่าเงินบาทแข็งตัวมากขึ้น ปัญหาของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงยืดเยื้อ ความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินของแต่ละประเทศ รวมถึงไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ซึ่งการค้าด้านมาเลเซีย การส่งออกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มสินค้ายางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องคอมพิวเตอร์ ด้าน สปป.ลาว สถานการณ์การค้ายังคงลดลง โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันดีเซล รถยนต์-อุปกรณ์รถยนต์ และสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ ขณะที่ด้านเมียนมา มูลค่าขยายตัวแต่การส่งออกยังคงลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าน้ำมันดีเซล และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และผ้าผืนและด้าย สำหรับกัมพูชา นับเป็นประเทศที่การค้าขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 14.43% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์-อุปกรณ์รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ในขณะที่การค้าผ่านแดน ด้านจีนตอนใต้ มีอัตราขยายตัวสูงถึง 25.31% สินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผักผลไม้สดแช่เย็น เครื่องคอมฯ และลำไยแห้ง ด้านสิงคโปร์ สถานการณ์การค้ามีภาวะลดลง อาทิ กลุ่มสินค้าเครื่องยนต์สันดาป เครื่องคอมฯ และแผงวงจรไฟฟ้า ส่วนเวียดนาม สถานการณ์การค้ามีภาวะลดลง อาทิ กลุ่มสินค้าผลไม้สดแช่เย็น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และลำไยแห้ง

ทั้งนี้ กรมฯ ยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน เร่งส่งเสริมการค้าชายแดน ให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ได้พัฒนาไว้แล้ว กระตุ้นการส่งออกและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป