กระทรวงพลังงานย่องเปิดเวที “ควิก วิน” โรงไฟฟ้าชุมชน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 กระทรวงพลังงานจัดประชุมรับฟังความเห็นหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการ Quick Win) อย่างเงียบ ๆ มีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมไม่มากนัก ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายสร้างรายได้ให้ชุมชนตามที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานวางไว้ เบื้องต้นการประชุมได้พิจารณาคุณสมบัติผู้เสนอขายไฟฟ้า และเกณฑ์ด้านเทคนิค 40 คะแนน และด้านผลประโยชน์ 60 คะแนน 

สำหรับคุณสมบัติต้องเป็นนิติบุคคล มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย มีสมาชิกวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน อยู่ใน ภายในจังหวัดเดียวกับที่ตั้งโรงไฟฟ้า 

โรงไฟฟ้า hybrid ที่เสนอในครั้งนี้ต้องตั้งและมีจุดเชื่อมโยงไฟฟ้าที่เดียวกัน ต้องมีเอกสารแสดงว่าพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าไม่ขัดต่อกฎหมายผังเมือง/กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง มีผลตรวจสอบจุดเชื่อมโยงวงจรไฟฟ้าของสายส่งไฟฟ้า พร้อมทั้งหลักฐานผลการรับฟังความเห็นชุมชน ทั้งต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ มีประสบการณ์ด้านการผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า  และมีการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น 

ส่วนด้านเทคนิค เช่นว่า มีบอกที่มาแหล่งน้ำใช้ supply ให้ได้ และต้องประมาณการปริมาณเชื้อเพลิงที่จะใช้ต่อปี การใช้ต่อการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย ปริมาณเชื้อเพลิงที่จะรับซื้อจากวิสาหกิจชุมชนต่อปี ไม่น้อยกว่า 80% และเชื้อเพลิงซื้อจากที่อื่น/ปลูกเองต่อปี ร้อยละ 20% กรณีจะซื้อ/ปลูกเองแสดงหลักฐานสัญญารับซื้อ หรือพื้นที่ที่จะปลูก และแผนสำรองแนวทางการแก้ไขกรณีเชื้อเพลิงไม่พอ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการร่วมกับชุมชนให้ยั่งยืนตลอดอายุสัญญา เป็นต้น 

“การแบ่งปันผลประโยชน์ นอกจากให้หุ้น 10% ต่อชุมชน ส่วนแบ่งรายได้ค่าไฟ เงินพิเศษ ปันผล ค่าจ้าง และค่าเชื้อเพลิงแล้ว ยังกำหนดให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าต้องเสนอว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนดีขึ้นจากเดิม
ต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร หรือถ้าเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวลที่ใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ใบอ้อยสด ต้องบรรยายว่าจะช่วยลดการเผาที่เป็นต้นเหตุของฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร สร้างรายได้จากการขายวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างไร ส่วนกรณีที่เป็นการปลูกพืชพลังงานขึ้นใหม่ เช่น หญ้าเนเปียร์ ไผ่ หรือไม้โตเร็ว ต้องเทียบให้เห็นว่ามีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากพืชเกษตรที่ปลูกอยู่เดิมอย่างไร ช่วยลดพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ไปเท่าไร”