กลยุทธ์ส่งออก ฝ่าโควิด-19 ดันสินค้า Essential-Online Exhibition

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ทำให้โอกาสที่การส่งออกปี 2563 จะขยายตัว 3% ตามเป้าหมาย เริ่มจะห่างไกลออกไป แม้ว่าจะเปิดฉากมาในเดือนมกราคม 2562 จะบวกถึง 3.35%

แต่ล่าสุดสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานว่า การส่งออกไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มูลค่า 20,641 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.47% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,745 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.30% ส่งผลให้การค้าไทยเกินดุล 3,897 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การส่งออก 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ปี 2563 มูลค่า 40,267 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.81% และนำเข้ามูลค่า 37,925.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 2,341 ล้านเหรียญสหรัฐ  

หากพิจารณาการส่งออกรายสินค้าพบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.0% จากการหดตัวของการส่งออกข้าว ในตลาดสหรัฐและจีน ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป หดตัวจากตลาดจีน ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 5.2% จากสินค้า เช่น อาวุธ กระสุน รวมทั้งส่วนประกอบ ซึ่งหดตัวจากตลาดสหรัฐ สิงคโปร์ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เป็นผลจากราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงและผันผวน สินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ขยายตัวดี ยังคงเป็น “ทองคำ” เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง

ผลพวงจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาดหดตัว อาทิ จีน ติดลบ 2% ฮ่องกง ลบ 3% ญี่ปุ่น ลบ 7% ขณะที่สหรัฐ ลดลง 37% ต่ำสุดเนื่องจากฐานการส่งออกของสหรัฐในปีที่ผ่านมาขยายตัวจากการส่งออก “อาวุธ” และเป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดอาเซียนภาพรวมขยายตัว 6.1% โดยเฉพาะตลาด CLMV ขยายตัว 5.8%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อระบบขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ แต่ยังเร็วเกินไปที่ประเมินว่าการส่งออกจะติดลบหรือไม่ เนื่องจากปัญหาโควิด-19 ต่างจากปัญหาสงครามการค้าที่สามารถมองได้ว่ากระทบการส่งออกสินค้าใดบ้าง

อย่างไรก็ตาม ถือว่าไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศ เพราะยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้หลายตลาด อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

“เดือนมีนาคมมีแนวโน้มส่งออกลดลง แต่เชื่อว่าครึ่งปีแรกยังขยายตัวดี ซึ่งหากไทยสามารถส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,598 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปี 2563 มีโอกาสเป็น 0% แต่หากส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าทั้งปีขยายตัวได้ 2%”

สำหรับปัจจัยบวกจากสถานการณ์การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของจีนดีขึ้น น่าจะเร่งนำเข้าสินค้าซึ่งจะสามารถชดเชยตลาดกลุ่มยุโรป สหรัฐที่ลดลงได้ โดยเฉพาะความต้องการสินค้าจำเป็น (essential goods) อาทิ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และของใช้ในบ้าน ขยายตัวได้ดี ตอบสนองความต้องการสินค้าจำเป็นเพื่อการยังชีพ และการพื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ประกอบกับปัจจัยบวกจากแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่าลง รวมถึงการที่หลายประเทศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลัง ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย การสนับสนุนรายได้ และค่าใช้จ่าย ฟื้นกำลังซื้อ เพื่อรักษาระดับการค้าโลก

พร้อมกันนี้ กระทรวงยังปรับกลยุทธ์วิธีการจัดงานแสดงสินค้า online exhibition และ online business matching นำร่องในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในเดือน พ.ค.นี้ และจะขยายไปสู่สินค้าอื่น ๆ และในวันที่ 25 มี.ค. 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.) เพื่อประเมินสถานการณ์ แนวทางความร่วมมือในการแก้ไขและผลักดันการส่งออกต่อไป