เอาใจสวนยาง! อัดฉีดแพ็คเกจ 5 โปรเจ็กต์ใหญ่ กว่า 50,000 ล้าน ช่วยยางทั้งระบบ

แฟ้มภาพ

เกษตรฯ ดันแพ็คเกจช่วยยางทั้งระบบ เดินเครื่องออกมาตรการช่วยเหลือครบทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางพารา บรรเทาผลกระทบจากการสถานการณ์โควิด-19 เผยเตรียมนำเข้าครม.พิจารณา

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบไปในทุกภาคส่วน ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในส่วนของยางพารานั้น ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เร่งหามาตรการต่าง ๆ และได้นัดประชุมคณะกรรมการ กยท. กรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางพารา บรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โดยได้เห็นชอบให้ดำเนินการใน 5 โครงการ คือ

1) โครงการประกันรายได้ระยะที่ 2 งบประมาณ 42,000 ล้านบาท

2) โครงการพัฒนาความร่วมมือการผลิตและการตลาดภาคอุตสาหกรรมยางพารา งบประมาณ 11.3 ล้านบาท 3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท)

4) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท)

และ 5) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ วงเงิน 20,000 ล้านบาท

ด้าน นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการประกันรายได้ระยะที่ 2 เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2563 เริ่มจ่าย 1 พฤษภาคม 2563 ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้กรีดยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2563 จำนวน 1,730,000 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 19.4 ล้านไร่ โดยราคายางที่ประกันรายได้ แบ่งเป็น ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (DRC 100%) 46.00 บาท/กิโลกรัม แบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีดยาง ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด งบประมาณวงเงินรวมทั้งสิ้น 42,000 ล้านบาท

ขณะที่โครงการพัฒนาความร่วมมือการผลิตและการตลาดภาคอุตสาหกรรมยางพารา เป็นการช่วยเหลือสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยการเพิ่มสภาพคล่องให้สถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตหมอนยางพารา ซึ่ง กยท. จะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้แก่สถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตหมอนยางพารา เป้าหมาย จำนวน 50 สถาบัน โดยใช้หมอนยางพาราเป็นหลักประกัน จำนวน 50,000 ใบ

สำหรับในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยางพารา ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง จะปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงาน ในปี 2563 โดยผู้ประกอบกิจการยางที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางไม่น้อยกว่า 2 ตันต่อปี ในทุกวงเงิน 1 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางไม่น้อยกว่า 50,000 ตัน และ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) เพิ่มกิจกรรมให้ผู้ประกอบกิจการยางที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ต้องซื้อยางมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตของฤดูกาลใหม่ รัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ผู้ประกอบกิจการไม่มีกำลังการซื้อ ให้เกิดการหมุนเวียนผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยาง สุดท้ายคือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ วงเงิน 20,000 ล้านบาท รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี กระตุ้นการโค่นยาง 400,000 ไร่ ดูดซับปริมาณไม้ยางจากการกระตุ้นการโค่นจำนวน 12 ล้านตัน ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมปลูกแทนวงเงิน 6,400 ล้านบาท

“กยท.จะรีบดำเนินการเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป” นางณพรัตน์กล่าว