โค้งสุดท้ายประกันรายได้ 5 พืชเฉียด 5 หมื่นล้าน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.พาณิชย์
แฟ้มภาพ

ในสัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ภายใต้การใช้งบประมาณจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน โดยเบื้องต้นจะมีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิตามที่ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 9 ล้านทะเบียนเกษตรกร วงเงิน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน หรือ 15,000 บาท ซึ่งมาตรการเยียวยาเกษตรกรครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงิน 135,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมาการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการดำเนินโดยผ่าน “โครงการประกันรายได้” ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิดประจำฤดูการผลิต 2562/63 ตามนโยบาย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ โดยได้มีการจ่ายชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว ล่าสุดจนถึงเดือน เม.ย. 2563 ด้วยวงเงิน 48,788 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ในพืช 3 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดำเนินการมาถึง “โค้งสุดท้าย” เหลือเวลาอีก 1 เดือนจะครบกำหนดในวันที่ 31 พ.ค. 2563

ในส่วน “ข้าวเปลือกปี 2562/63” รอบที่ 1 ที่เริ่มคิกออฟเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2562 มีเกษตรกรเข้าร่วม 349,000 ครัวเรือน รัฐกำหนดราคาประกันข้าวเปลือก 5 ชนิด คือ ข้าวหอมมะลิ ตันละ15,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 10,000 บาท ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 12,000 บาท ล่าสุดรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรแล้ว 24 งวด จากทั้งหมด 30 งวด คิดเป็นเงิน 19,387 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 21,495.74 ล้านบาท คงเหลือ 2,108 ล้านบาท แต่ด้วยวิกฤตภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลให้ปริมาณข้าวเปลือกลดลงเหลือ 18.8 ล้านตัน ราคาข้าวเปลือกในประเทศปรับสูงขึ้นไปตันละ 10,200-11,000 บาทสูงสุดในรอบ 10 ปี

เช่นเดียวกับ “มันสำปะหลัง” ที่มีเกษตรกรเข้าร่วม 470,000 ครัวเรือนนับจากเริ่มคิกออฟจ่ายชดเชยครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ด้วยราคาประกันหัวมันสด กก.ละ 2.50 บาท จนถึงปัจจุบันรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยแล้ว 4,765 ล้านบาทจากวงเงิน 9,671.5 ล้านบาท คงเหลืออีก 4,906.5 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้คาดว่า “ภัยแล้ง” ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงเหลือ 28.7 ล้านตัน สวนทางกับความต้องการใช้ที่มากถึง 39-40 ล้านตันโดยเฉพาะความต้องการจะใช้ผลิตแอลกอฮอล์ ทำให้ราคาหัวมันล่าสุดเฉลี่ย กก.ละ 2.15-2.85 บาทในโค้งสุดท้าย

ขณะที่ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ซึ่งคิกออฟจ่ายเงินส่วนต่างไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2562 กำหนดราคาประกัน กก.ละ 8.50 บาท จนถึงปัจจุบันรัฐบาลจ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกรแล้ว 4 งวดจากทั้งสิ้น 11 งวด คิดเป็น 432 ล้านบาทจากวงเงินรวม 923.3 ล้านบาท ยังเหลือ 8 งวด แต่ปรากฏว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ คาดการณ์ว่า “ภัยแล้ง” ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดมากขึ้นถึงเกือบ 5 ล้านตัน จำเป็นต้องขอขยายเวลาดำเนินมาตรการจากเดิมที่จะสิ้นสุด 31 พ.ค.นี้ออกไปอีก เพื่อรองรับผลผลิตข้าวโพดรุ่น 2 ที่จะออกในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ ระดับราคาข้าวโพดล่าสุดอยู่ที่ กก.ละ 8.70 บาท สูงกว่าราคาประกันรายได้

“ปาล์มน้ำมัน” ที่เริ่มคิกออฟตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 263,107 ราย กำหนดราคาประกัน กก. 4 บาท ปัจจุบันจ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกรแล้ว 2,770 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 13,378.99 ล้านบาท ถือเป็นสินค้าที่รัฐบาลจ่ายส่วนต่างน้อยที่สุด เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 10 คู่ขนานส่งผลให้ราคาผลปาล์มปรับขึ้นไป กก.ละ 5-6 บาท สูงกว่าราคาประกัน

สุดท้าย “ยางพารา” ที่เพิ่งจะสิ้นสุดโครงการประกันรายได้ไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา มีเกษตรกรขึ้นบัญชี 1.71 ล้านราย รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง 21,434 ล้านบาท จากวงเงินที่ตั้งไว้ 24,000 ล้านบาท และขณะนี้ทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เสนอขอรัฐบาลพิจารณาโครงการประกันรายได้ยางระยะที่ 3 ต่อไปอีก 35,000 ล้านบาท เนื่องจากราคายางแผ่นดิบที่ยังทรงตัวต่ำที่ กก.ละ 35.25 บาท น้ำยางสดกก.ละ 38.20 บาท “ต่ำกว่า” ราคาประกันรายได้ที่รัฐบาลกำหนดให้ยางแผ่นดิบ กก.ละ 60 บาท น้ำยางสด กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท เป็นผลพวงจากดีมานด์การใช้ยางพาราในตลาดโลกชะลอตัวลงจากโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมยางล้อ

อย่างไรตาม ต้องติดตามต่อไปว่า รัฐจะลุยต่อโครงการประกันรายได้ และจะยกเครื่องมาตรการนี้เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรอย่างใด