วิกฤตกำลังซื้อสินค้าเกษตรหด “แล้ง-ราคาตก” แจก 5 พันไม่ถ้วนหน้า

กำลังซื้อภาคเกษตรไม่ฟื้น “เกษตรกร” ชี้เยียวยา 5,000 บาท ช่วยแค่ระยะสั้น จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาแล้ง-โรคระบาด-กระตุ้นตลาดพยุงราคามากกว่า ด้านชาวสวนยาง 1.8 ล้านเสียง จี้รัฐต้องจ่ายให้ครบทั้งชาวสวน

จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2563 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ไม่เกิน 10 ล้านราย รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. 2563 โดยให้มาขึ้นทะเบียนและตรวจสอบการขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ภายในวันที่ 15 พ.ค. 2563 ล่าสุดมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว 8.43 ล้านราย และอยู่ระหว่างตรวจสอบการขึ้นทะเบียน 1.57 ล้านราย(กราฟิก) และยังมีกลุ่มที่ 3 เป็นเกษตรกรรายใหม่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียน

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งจ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกรเพราะวิกฤตโควิด-19 และภัยแล้งส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทยอย่างมาก ดังนั้น มาตรการเยียวยาภาคการเกษตรที่ต้องเป็นมาตรการระยะสั้น เงินสดที่จะส่งตรงถึงมือเกษตรกรจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนน้อยลง และทำให้เกษตรกรมีกำลังซื้อ มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย

พร้อมกันนี้ ขอให้รัฐบาลพักหนี้ทั้งระบบ ไม่จ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ย แต่ให้คงสภาพหนี้อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตและผ่อนปรนกรณีเช่า/ซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรไม่ให้เกิดการยึดคืน มากไปกว่านั้น ในจังหวะนี้รัฐบาลควรจะชะลอการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง CPTPP ไว้ก่อน จำเป็นต้องหันมาเร่งแก้ปัญหาโควิด-19 และภัยแล้ง และยกระดับภาคเกษตรให้เข้มแข็ง มีนวัตกรรม แปรรูปให้เป็นรูปธรรมก่อนตัดสินใจเข้าร่วม

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า มาตรการนี้ช่วยเกษตรกรได้ระดับหนึ่งแต่เชื่อว่าการตรวจสอบข้อมูลอาจเกิดความล่าช้า ทำให้เกษตรกรต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะแม้ว่าราคาข้าวในช่วงที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นแต่จากปัญหาภัยแล้งจึงไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ดังนั้น ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยการหาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาว เพราะหากไม่มีน้ำก็ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์เรื่องน้ำ รวมไปถึงนโยบายที่เกี่ยวกับน้ำระหว่างดำเนินการขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ เลย

“หากโครงการน้ำล่าช้า ไม่มีน้ำจะเป็นปัญหามากกว่าที่จะรอรับมาตรการ 5,000 บาท เพราะโดยปกติแล้วช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.จะเข้าช่วงปลูกข้าวแต่ภัยแล้งทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ หากล่าช้าไปกว่านี้ก็กังวลว่า ผลผลิตข้าวในปี 2563/2564 อาจลดลงแต่ละพื้นที่ต่างก็มีปัญหาเดียวกัน การลงมือเพาะปลูกจะเหลื่อมเวลาบ้าง หากรัฐบาลไม่เข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน”

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรช่วงโควิด-19 เพื่อนำไปใช้เรื่องค่าครองชีพ แต่สิ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มกำลังเผชิญปัญหามากกว่าในเวลานี้ คือ ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ปัจจุบันเฉลี่ย กก.ละ 2.20-2.90 บาท

ขณะที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 170,000-180,000 ตัน ทั้งที่ผลผลิตน้อยและเกิดปัญหาภัยแล้ง ซึ่งต้องดันให้ราคาผลปาล์มขายได้ราคาดี แต่กลับกันราคาตกต่ำลง ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลในส่วนนี้มากกว่า โดยเฉพาะความต้องการปาล์มน้ำมันสำหรับผลิตไบโอดีเซล บี 10 เต็มศักยภาพ หากราคาแนวโน้มดีขึ้น เกษตรกรก็มีรายได้จากการขาย นอกจากนี้ เกษตรกรต้องการน้ำทำการเกษตร หากขาดน้ำเชื่อว่าจะกระทบต่อผลผลิตมากกว่า

“กำลังซื้อโดยรวมเกษตรกรยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะยังไม่มั่นใจสถานการณ์ราคาผลผลิตในอนาคต และถึงแม้จะมีโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน 4 บาทต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังไม่รู้ว่าหลังสิ้นสุดโครงการเดือนตุลาคม 2563 นี้ จะเป็นอย่างไรต่อไปยังต้องติดตาม”

นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท อาจมาช่วยช้าไป เพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกษตรกรกังวลเรื่องรายได้ จึงได้เร่งขุดมันสำปะหลังออกมาจำหน่าย และที่สำคัญ เงินช่วยเหลือนี้อาจช่วยค่าครองชีพในระยะสั้นได้ แต่สิ่งที่ต้องการให้รัฐเข้ามาดูแล คือ ปัญหาระยะยาวที่เกษตรกรได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง และยกระดับราคาผลผลิตซึ่งตกต่ำเหลือ กก.ละ 1.95 บาท จากราคาประกันรายได้ กก.ละ 2.50 บาท ทั้งที่ผลผลิตคาดว่าจะลดลงจากภัยแล้งเหลือเพียง 21 ล้านตัน จากปกติ 35 ล้านตัน

“ตอนนี้ปัญหาโรคใบด่างแพร่ระบาดเพิ่มจาก 17 จังหวัด เป็น 30 จังหวัดแล้ว จากความล่าช้าของการกำจัดโรคใบด่าง กรมวิชาการเกษตรได้งบประมาณ 248 ล้านบาท เมื่อเดือนกันยายน 2562 แต่เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในการว่าจ้างผู้ทำลายมันสำปะหลังที่ติดโรค และการเบิกจ่ายงบประมาณจากสำนักงบประมาณล่าช้า เกษตรกรดำเนินการทำลายเองแบบถูกวิธีบ้าง ไม่ถูกวิธีบ้าง ส่งผลให้โรคนี้กระจาย และเกษตรกรที่ทำลายมันสำประหลังเองก็ไม่ได้รับเงินชดเชย 3,000 บาท”  

แหล่งข่าววงการยางกล่าวว่า มาตรการนี้จะช่วยชาวสวนยางได้ในระยะสั้นเท่านั้น จะส่งผลดีในการกระตุ้นการจับจ่ายของเกษตรกร แต่กังวลว่าจะเกิดปัญหาเรื่องฐานข้อมูลหรือไม่ หากรัฐบาลต้องการให้จ่ายเงินเยียวยาทั้งหมด ทั้งชาวสวน ผู้เช่า คนกรีดยาง และกลุ่มที่ทำสวนยางโดยไม่มีเอกสารสิทธิ หรือทำในที่ป่า รวมทั้งหมดประมาณ 1.8 ล้านราย โดยการลงทะเบียนของชาวสวนยางจะลงทะเบียนเป็นราย ซึ่งหนึ่งครัวเรือนมีการลงทะเบียนหลายคน กลุ่มนี้จะต้องจ่ายเงินเยียวยาทั้งหมดให้ครบ หากไม่จ่ายทั้งหมด กระทรวงเกษตรฯกังวลว่าจะมีม็อบชาวสวนมาที่กระทรวง หรือชุมนุมประท้วง และที่สำคัญ ชาวสวนยางคือฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์