ไทยเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” ตัวเลข พ.ค. ติดลบ 3.44% ต่ำสุดรอบ 10 ปี

สนค.เผยเงินเฟ้อไทยเดือนพฤษภาคม 2563 ลดลง 3.44% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน จากปัจจัยการลดลงของราคาน้ำมัน รวมถึงนโยบายรัฐ ลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ส่งผลให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่ในเชิงเทคนิคเท่านั้น เนื่องพบสินค้าบางรายการยังสูงอยู่

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤษภาคม 2563 เท่ากับ 99.76 ลดลง 3.44% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 โดยมองว่าน่าจะเป็นการต่ำสุดของปีนี้และของตัวเลขเงินเฟ้อ ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงิดฝืดเนื่องจากตัวเลขติดลบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนถึงปัจจุบัน

ปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง 27.97% และยังมีผลจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลลดค่าไฟฟ้า น้ำมันประปา และสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ ราคาของผักสดซึ่งต่ำสุดในรอบ 3 ปีเป็นแรงกดดัน แต่อย่างไรก็ดี สนค.ยังมองว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่เป็นในเชิงเทคนิคเท่านั้น แม้ราคาสินค้าจะลดลงแต่มีจำนวนไม่มาก เพราะหากเงินฝืดจริงราคาสินค้าส่วนใหญ่จะต้องลดลง แต่ขณะนี้ยังมีสินค้าบางรายการที่ปรับขึ้นอยู่

ทั้งนี้ สนค.ได้ประเมินว่าตัวเลขเงินเฟ้อของไทยอาจจะลดลงต่อเนื่องแต่คงไม่ต่ำสุด ซึ่งรอประเมินตัวเลขราคาสินค้าในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ด้วย แม้จะมีหลายปัจจัยแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ยังคงมั่นใจว่าประเทศไทยยังมีสินค้าเพียงพอต่อการบริโภคและสินค้าไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน และจากมาตรการของรัฐที่เริ่มผ่อนคลายในหลายกิจกรรมมากขึ้น จะส่งผลต่อการจับจ่ายซื้อสินค้าและการบริโภค และเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น

แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะมีผลสำคัญแต่ก็ต้องการให้คนไทยเที่ยวไทยมากขึ้นซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยดีขึ้น ส่วนปัญหาภัยแล้งซึ่งมีผลต่อเงินเฟ้อนั้นก็เริ่มดีขึ้นแต่ก็ยังต้องติดตามถึงผลกระทบต่อไป

อย่างไรก็ดี ภายใต้สมมุติฐานมาจากราคาน้ำมันโดยประเมินว่าราคาน้ำมันทั้งปี 2563 อยู่ที่ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ ติดลบ 5.8 – ติดลบ 4.8% โดยเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ ติดลบ 0.2 – ติดลบ 1.0% โดยค่ากลางอยู่ที่ ติดลบ 0.6%

นอกจากนี้ เงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนของปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม) ลดลง 1.04% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ลดลงในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลด 5.42% โดยเฉพาะหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 9.15% ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงทุกประเภท หมวดเคหสถาน ลดลง 5.61%

ขณะที่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.08% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.24% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา สูงขึ้น 0.36% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.01% จากการลดลงของกลุ่มผักและผลไม้ ส่วนสินค้าที่สูงขึ้น เช่น ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 6.03% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 0.48 แต่ทั้งนี้ เงินเฟ้อเมื่อเทียบเดือนเมษายน 2563 สูงขึ้น 0.01% เฉลี่ย 5 เดือนแรก ลดลง 1.04%

สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 422 รายการ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีสินค้าปรับสูงขึ้น 195 รายการ อาทิ ข้าวสารเหนียว น้ำมันพืช เนื้อสุกร ไข่ไก่ กระเทียม กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ค่าเดินทางไปเยี่ยมฐาติและทำบุญ (ค่าเช่ารถตู่) ค่าเช่าบ้าน สินค้าลดลง 151 รายการ อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า แก๊สโซฮออล์ 91 แก๊สโซฮอลล์ 95 แก๊สโซฮอลล์ E20 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 ค่าน้ำปะปา พริกสด และสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 76 รายการ