ครึ่งปีหลังยังต้องเร่งเจรจา FTA ค้างท่อ-จ่อเซ็น RCEP

ครึ่งปีหลังเร่งเจรจาเอฟทีเอค้างท่อ-เตรียมเซ็น RCEP ปลายปี พร้อมรับนโยบาย “จุรินทร์” สั่งลุยเปิดเจรจาประเทศใหม่ หวังใช้เป็นเครื่องมือขยายการส่งออก สร้างความรู้ทุกภาคส่วนใช้โอกาสขยายตลาดสินค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า แผนเจรจาการค้าระหว่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 กรมเตรียมเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) หลังชะลอมาตั้งแต่ต้นปีจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปรับให้มาเจรจาผ่านระบบทางไกล

สำหรับความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา ประกอบด้วย เอฟทีเอ 3 ฉบับ คือ เอฟทีเอไทย-ปากีสถาน, ไทย-ตุรกีและไทย-ศรีลังกา และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) ซึ่งเจรจาจบและอยู่ระหว่างขัดเกลาข้อบท เพื่อดำเนินการสรุปและลงนามความตกลงได้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศเวียดนามในเดือนพฤศจิกายนนี้

ขณะที่ความคืบหน้าของเอฟทีเอทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย เอฟทีเอไทย-ปากีสถาน หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายจะเห็นชัดเจนมากขึ้น ด้วยติดปัญหาด้านการเมืองภายในประเทศ ส่วนเอฟทีเอไทย-ตุรกี เจรจาไปแล้ว6 รอบ และปรับให้มีการประชุมกลุ่มย่อยเช่น การเปิดตลาด กฎระเบียบ ภาษี แหล่งกำเนิดสินค้า กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หารือผ่านระบบทางไกล คาดว่าจะประชุมหารือกันอีก 3-4 รอบ จะเห็นข้อสรุปชัดเจนในปี 2564 ส่วนเอฟทีเอไทย-ศรีลังกาเจรจาไปแล้ว 2 รอบ แต่ทางศรีลังกาเพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งและอยู่ระหว่างการจัดตั้งทีมเจรจาขึ้นมาใหม่ คาดว่าจะประสานนัดประชุมคณะเจรจาการค้าต่อไป

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้ากรอบใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้ไทยสามารถขยายตลาดการค้า บริการการลงทุน ซึ่งบางประเทศไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าระหว่างกันโดยมีกรอบเจรจาใหม่ที่น่าสนใจ โดยบางกรอบเจรจาอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ 6 ฉบับ เช่น เอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักรเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ EFTA และเอฟทีเอไทย-ยูเรเชีย (Eurasian Economic Union : EAEU) ซึ่งมีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ อาร์เมเนียเบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และรัสเซีย เอฟทีเอไทย-ฮ่องกง และเอฟทีเอไทย-สหรัฐ เป็นต้น

สำหรับการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจาข้อตกลงการค้าไทย-อียู ซึ่งได้ศึกษาไปแล้ว แต่กรมยังได้ศึกษาผลการเจรจาเอฟทีเอระหว่างอียู-เวียดนาม (EVFTA) ว่ามีการเปิดเสรีประเด็นใด และมีรายละเอียดเช่นไรบ้าง เช่น การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้าง ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการแรงงาน เป็นต้น ซึ่งกรมต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

“ต้องยอมรับว่าการเจรจาต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้น จะเดินหน้าอย่างไรให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากยังมีข้อประเด็นที่ประเทศไทยจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขภายในประเทศ โดยเฉพาะกฎระเบียบ กฎหมาย กติกา เพื่อให้สอดคล้องไปกับการเจรจาในกรอบต่าง ๆ”

นอกจากการเจรจาความตกลงการค้าแล้ว ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่ได้รับผลกระทบในการเตรียมความพร้อมเพื่อการใช้ประโยชน์จากความตกลง โดยเตรียมเปิดสัมมนาให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์ใน 6 กลุ่ม เช่น การปูพื้นฐานความเข้าใจเอฟทีเอ การเปิดตลาดสินค้า การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ทรัพย์สินทางปัญหา เป็นต้น โดยจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไปรวมระยะเวลา 3 เดือน