ปลดล็อก 13 พืชสมุนไพรวุ่น ไบโอไทยห้ามละเมิดวิถีเดิม

ใบสาบเสือ : Special Thank Wikipedia - Photographed : Trisorn_Triboon

ชงบอร์ดวัตถุอันตราย ปลดล็อกสมุนไพร 13 ชนิด จากวัตถุอันตรายประเภท 2 “ไบโอไทย” ชี้จดแจ้งได้แต่หวั่นละเมิดสิทธิเกษตรกรปลูกดั้งเดิม

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มอบให้กรมวิชาการเกษตรยกร่างหลักเกณฑ์การใช้พืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ชา/กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาในเดือนสิงหาคมนี้ให้ปรับจากกลุ่มวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (วอ.2) ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วอ.1) เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากจะปรับ 13 พืชจากวอ.2 กลับมาเป็น วอ.1 ต้องพิจารณารายละเอียดให้ถี่ถ้วนถึงวัตถุประสงค์หลักที่เป็นประโยชน์แท้จริง ซึ่งหากถูกกำหนดไว้ในหมวดของ ว.2 ถือว่าเป็นวัตถุอันตรายที่หากจะมีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน

และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดอย่างไรบ้างนั้น ต้องคำนึงถึงสิทธิเกษตรกรที่ปลูกอยู่แล้ว เพราะบางเรื่องที่ชาวบ้านหรือเกษตรกรทำเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมก็ไม่เห็นด้วย หรือหากจะนำพืชสมุนไพรดังกล่าวมาสกัด เพื่อจำหน่ายอาจสามารถจดแจ้งได้ก็ต้องมีขั้นตอน อย่างไรก็ดี ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนของหลักเกณฑ์ประกาศนี้ว่าพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด จะเป็นพืชที่เกษตรกรเพื่อทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้มากน้อยเพียงใด”

น.ส.อิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า กระทรวงฯเห็นว่าควรปลดล็อกพืชสมุนไพร 13 ชนิดจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 กลับมาเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถนำสารธรรมชาติหรือพืชที่อยู่ตามธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมศัตรูพืช เนื่องจากกลุ่ม ว.1 จะมีความเป็นอันตราย หรือความเป็นพิษน้อยกว่า ว.2 และมีขั้นตอนสะดวกต่อการนำไปใช้มากกว่า ว.2 เพราะเพียงแค่แจ้งแต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนเช่นเดียวกับ ว.2 ซึ่งจะมีขั้นตอนยุ่งยากเพราะต้องวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นพิษ และต้องทดสอบประสิทธิภาพการใช้ และต้องประเมินความเสี่ยงความปลอดภัยด้วย

ทั้งนี้ สารธรรมชาติมีทั้งสารสกัดธรรมชาติจากพืชได้จากการสกัดจริงที่มีความบริสุทธิ์และเข้มข้นกว่า และสารธรรมชาติจากพืชที่ไม่ผ่านการสกัด เช่น การนำไปตากแห้ง บ่ม สับ แล้วนำมาใช้เลยซึ่งไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนหรือแจ้งว่ามีสารออกฤทธิ์ปริมาณเท่าไหร่ หรือใช้ในอัตราเท่าไหร่ จะสะดวกสำหรับนำไปใช้