ส่งออก “ไก่” ฝ่าโควิดฉลุย กว้านออร์เดอร์จีนแสนตัน

ไก่ในโรงงาน
RODRIGO FONSECA / AFP

“ส่งออกไก่” ครึ่งปีแรกอู้ฟู่ ขยายตัว 2% หลังจีนรับรองมาตรฐานโรงงานเพิ่ม ช่วยชดเชยตลาดยุโรป-ญี่ปุ่นยอดหดจากผลกระทบโควิด-19 จับตาปัจจัยเสี่ยงบาทแข็ง-ต้นทุนการเลี้ยงไทยยังสูงกว่าบราซิล

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและในฐานะรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าอาหารในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไก่สดแปรรูป ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) 2563 ขยายตัว6.1% มูลค่า 1,224 ล้านเหรียญสหรัฐ

เชื่อว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลังจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากการส่งออกไปในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้จีนผลิตไก่ได้ไม่เพียงพอบริโภคจึงต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดพบว่ามีโรงงานผลิตไก่เพื่อการส่งออกของไทย ได้รับการรับรองมาตรฐานการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นด้วย

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า การส่งออกไก่ในครึ่งปีแรก 2563 อยู่ที่ 470,000 ตัน เพิ่มขึ้น 2% มูลค่า 54,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งปีการส่งออกมองว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2% หรือมีปริมาณใกล้เคียงปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 950,000 ตัน

กราฟิก 10 ตลาดส่งออกไก่

โดยขณะนี้จีนได้รับรองโรงงานไก่ไทยไปแล้ว 21 โรงงาน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะ 1-2 ปี โดยเฉพาะในปี 2563 จีนให้การรับรองมาตรฐานโรงงานส่งออกไก่ไทยเพิ่มขึ้น 6 โรงงานยังคงเหลืออีก 6 โรงงานที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร หากได้รับการรับรองมาตรฐานเชื่อว่าการส่งออกไก่สดไปตลาดจีนจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 1 แสนตัน จากปีที่ผ่านมาส่งออกปริมาณ 65,000 ตัน นอกจากนี้ยังมีการส่งออกไปตลาดสิงคโปร์ได้เพิ่มอีกจากปัญหาล็อกดาวน์จึงหันมานำเข้าจากประเทศไทย

ปัจจุบันโรงงานส่งออกไก่สดไทย มีจำนวน 30 โรงงาน ซึ่งแต่ละโรงงานจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการส่งออกไก่สดไปยังประเทศผู้นำเข้า “จากการได้รับรองมาตรฐานโรงงานส่งออกไก่สดไปตลาดจีน ปี 2563 นี้ จีนจะเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกไก่สดที่จะช่วยชดเชยการนำเข้าไก่สดจากญี่ปุ่นที่ลดลง

เนื่องจากปัญหาของโควิด-19 การล็อกดาวน์ประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นคาดว่าการส่งออกอยู่ที่ 1-2 % เนื่องจากญี่ปุ่นประสบปัญหาของโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวลดลง การจัดโอลิมปิกถูกเลื่อนออกไป ทำให้การบริโภคไก่ลดลงและการบริโภคส่วนใหญ่เพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศเท่านั้น”


ส่วนตลาดยุโรปยังส่งออกลำบากเช่นกัน เนื่องจากการระบาดของโควิดในอียูยังไม่คลี่คลาย ร้านอาหารต่าง ๆยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ การบริโภคภายในยังทรงตัว สถานการณ์ครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังไม่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการแข่งขันโดยเฉพาะเรื่องของต้นทุนการเลี้ยง ซึ่งต้นทุนการเลี้ยงของไทยยังสูงกว่าคู่แข่งอย่างบราซิล โดยเฉพาะเรื่องของต้นทุนอาหารสัตว์.