ร้อง “บิ๊กตู่” เพิ่มเงินชดเชยเลิกจ้างเป็นของขวัญปีใหม่ หวั่นสะดุดหลังเอสเอ็มอีค้าน

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวถึงกรณีผลักดันกฎหมายเพิ่มเงินชดเชยการเลิกจ้างกรณีหากทำงาน 20 ปีขึ้นไปจะได้รับค่าจ้างชดเชย 400 วัน จากเดิมสูงสุดหากทำงาน 10 ปีได้รับเงินชดเชยเพียง 300 วันเท่านั้น ว่า ทางเครือข่ายแรงงานยังคงผลักดันกรณีการเพิ่มเงินชดเชยเช่นเดิม แต่ที่กังวลคือ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย แสดงความเห็นต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ว่า มีความวิตกกังวลกับการปรับแก้กฎหมายดังกล่าวว่า จะกระทบต่อสถานประกอบการขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SME) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มเงินค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปให้ได้รับเงินจำนวน 400 วัน ของอัตราค่าจ้างสุดท้าย และลากิจจำเป็น 1 ปีไม่น้อยกว่า 3 วันโดยได้รับค่าจ้าง รวมไปถึงกรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบการ หรือสถานที่ทำงานให้ลูกจ้างมีสิทธิขอให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย โดยลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้

“ล่าสุดทางเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) และเครือข่ายแรงงานต่างๆ จึงออกแถลงการณ์ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ… ซึ่งเป็นร่างที่ผ่านมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเป็นของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงานที่รอคอยมานาน ให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2560 โดยทางเครือข่ายแรงงานมีความกังวลว่าจะเกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะจริงๆ แล้วการจะจ่ายชดเชย 400 วันให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานมา 20 ปีนั้นจะต้องเป็นไปในกรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างมาเลเซียก็มีการกำหนดค่าชดเชยในลักษณะนี้ มากกว่าไทยด้วยซ้ำไป” นายมนัสกล่าว และว่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการขยายอัตราการชดเชยการเลิกจ้าง ทางเครือข่ายแรงงานจะมีการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการเคลื่อนไหวต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ที่สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย จ.สมุทรปราการ ซึ่งเครือข่ายแรงงานยืนยันว่า การขยายอายุการรับเงินชดเชยเพิ่ม จากเดิมมี 5 อัตราเป็น 6 อัตรา จะเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างแรงงานทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราจ่ายชดเชยตามเดิม 5 อัตราที่ใช้ ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน ได้รับค่าชดเชย 30 วัน 2.ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 6 ปี ได้รับค่าชดเชย 180 วัน 4.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 8 ปี ได้รับค่าชดเชย 240 วัน และ 5.ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 10 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์