หอการค้าต่างประเทศจี้ ศบค. คลายกฎนักธุรกิจต่างชาติเข้าไทย

REUTERS/Kim Kyung-Hoon

ประธานหอการค้าต่างประเทศ-เอกชนไทย กระทุ้งรัฐประกาศนโยบายเปิดรับต่างชาติเข้าประเทศให้ชัด ชี้ขั้นตอนปฏิบัติยุ่งยากเปิดเหมือนปิด “ศบค.-ศบศ.” ออกมาตรการแก้ปัญหาคนละทิศละทาง หวั่นรอดโควิดแต่เศรษฐกิจเดี้ยงหนัก เผยนักธุรกิจต่างชาติรอคิวเข้าไทยอีกนับหมื่นคน กระทุ้งให้เร่งคลายล็อก โฟกัสกลุ่มมีใบเวิร์กเพอร์มิต ช่างเทคนิค กลุ่มที่ต้องเดินทางเข้ามาทำสัญญา

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มเปิดประเทศรับชาวต่างชาติทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ แต่นโยบายและแนวปฏิบัติที่ยังไม่ชัดเจนกลายเป็นอุปสรรคทำให้นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเข้ามาได้จำกัด ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด กับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ไม่ประสานสอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตาม หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. และให้ยกเลิกสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน ศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด-19 และศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ต้องรอดูการบูรณาการทำงานของ ศบค. และ ศบศ.ว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

ทยอยเปิดให้ต่างชาติเข้าไทย

ทั้งนี้ ล่าสุดวันที่ 6 ต.ค. 2563 ศบค.อนุมัติให้นักธุรกิจและผู้มีใบอนุญาตทำงานเดินทางเข้าประเทศแล้ว 11,000 คน และต้องเข้ารับการกักตัว นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติให้มีนักท่องเที่ยวแบบ long stay โดยใช้ special tourism visa (STV) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่จะต้องกักตัว 14 วันเช่นกัน ส่วนระยะต่อไป รัฐบาลเห็นความจำเป็นที่ให้กลุ่มนักธุรกิจที่จะเข้ามาเจรจาธุรกิจ และพิจารณาตัดสินใจลงทุนสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการเดินทางเข้ามาในระยะสั้น

โดยกลุ่มนี้ต้องปฏิบัติตามมาตรการพิเศษ ประกอบด้วย 1) ต้องมีผลตรวจโควิด-19 ในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางเข้าไทย 2) ต้องมีกรมธรรม์ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 วงเงินไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ 3) ต้องเข้ามากักตัวและตรวจสอบเชื้อโควิดในไทยอีกครั้ง 4) ให้มีผู้ติดตามด้านการแพทย์และสาธารณสุขตลอดเวลาที่พักในไทย 5) ให้เดินทางโดยยานพาหนะที่เตรียมไว้ 6) ให้มีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบติดตามตลอดเวลาที่อยู่ในไทย

นักธุรกิจต่างชาติรอคิวหมื่นคน

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดให้นักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยยังไม่มีความชัดเจน และขั้นตอนปฏิบัติค่อนข้างยากไม่คล่องตัว ซึ่งตนได้หารือกับภาครัฐว่าควรจะมีวิธีการใหม่สำหรับใช้ในการตรวจสอบและติดตามหรือไม่ เพื่อให้นักธุรกิจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่มีใบอนุญาตทำงาน เดินทางเข้ามาได้ ซึ่งในส่วนของกระบวนการซับซ้อน คือ 1) ต้องไปขึ้นทะเบียนที่สถานทูตไทยในประเทศต้นทางเพื่อรอคิวเรียก เพราะยังไม่มีสายการบินพาณิชย์ให้บริการ ไม่สามารถจองตั๋วเข้ามาโดยตรงได้ และต้องเป็นคนที่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีคนที่รอคิวอยู่เป็นหลักหมื่นคนแล้ว

2) เมื่อได้รับเรียกต้องตรวจเชื้อก่อนเดินทางเข้าไทย 72 ชั่วโมง 3) ต้องจ่ายเงินคนละ 6,000-15,000 บาท เพื่อไปซื้อประกันโควิดที่มีทุนประกัน 1 แสนเหรียญ 3) เมื่อเดินทางมาถึงไทยต้องกักตัวตามมาตรการรัฐ 14 วัน และต้องตรวจโควิดอีก 2 รอบ ซึ่งกรณีที่ผู้ได้ใบอนุญาตทำงานชั่วคราวเช่นเดินทางมาประชุม หรือสัมมนา ได้วีซ่า 30 วัน (คนละประเภทกับพวกที่ขอเวิร์กเพอร์มิต1-2 ปี) เท่ากับว่าต้องถูกกักตัวอยู่ครึ่งหนึ่งของระยะเวลาวีซ่า ถ้าหากทำงานไม่เสร็จภายในระยะเวลา 30 วัน ก็ต้องขอต่อวีซ่า ซึ่งอันนี้จะต้องทำผ่าน “agency” อีก

ขั้นตอนยุ่งยาก “เปิดเหมือนปิด”

“การเปิดแบบนี้เท่ากับไม่เปิด กฎเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันก่อนเพิ่งออกกติกาเรื่อง 30 วัน บางคนเพิ่งรู้ ถ้ามีใบอนุญาตมาทำงานเข้าได้ แต่จริง ๆ เข้ายาก ใช้เอกสารเยอะ ซึ่งภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์ให้ทุก ประเทศได้รับรู้”

อีกกรณีคือ ควรขยายให้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคที่จะเดินทางมาติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักร กลุ่มนี้ไม่มีเวิร์กเพอร์มิตของบริษัทในไทยให้เข้าประเทศได้สะดวกขึ้น รวมถึงนักธุรกิจต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเพื่อทำสัญญาในไทย เพราะแม้ไม่มีเวิร์กเพอร์มิต แต่มีความสำคัญกับการฟื้นเศรษฐกิจ เช่น บริษัทซื้อเครื่องจักรจากอิตาลี ต้องมีช่างติดตั้ง แต่มาเจอโควิด ช่างติดตั้งเดินทางมาไม่ได้ เครื่องจักรที่ซื้อมาใช้งานไม่ได้ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ คือ รัฐบาลควรต้องเปิดประเทศในระดับที่ควบคุมได้ อาจกำหนดเป็นสเต็ป ๆ เช่น ระยะแรกเปิดประเทศ 5% มีหลักการเปิดอย่างไร และมีมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดอย่างไร แล้วจึงจะค่อยขยายเป็นสเต็ปต่อไป 10% และ 30% ไม่ใช่บอกว่าเปิด แต่มีแต่ตัวเลข

ชี้ ศบค.-ศบศ.ไปคนละทาง

ด้านแหล่งข่าวจากภาคธุรกิจเอกชนเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนก็พยายามส่งสัญญาณ และมีข้อเสนอแนะไปถึง ศบค.ว่า กังวลเรื่องการปิดประเทศนานเกินไป ควรมีการคลายล็อกในส่วนของการทำธุรกิจ เพราะที่ ศบค.ประกาศคลายล็อกยังไม่มีความชัดเจน และไม่ได้ขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่ละประเทศก็มีสแตนดาร์ดไดซ์ไม่เหมือนกัน ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเอเชีย หรือกลุ่มสหภาพยุโรป หรือสหรัฐ มีความแตกต่างกัน อีกทั้งเงื่อนไขในการเปิดก็ซับซ้อน เรื่องฟิกทูฟลาย เหมือนเปิด ไม่เปิดก็กลัว พอไม่เปิดเศรษฐกิจก็พัง

นอกจากนี้ การจัดลำดับ priority ผู้ที่จะเดินทางเข้ามา ก็จะให้น้ำหนักไปที่กลุ่มแรงงานจากต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติก็ยังต้องรอคิวต่อไป ทั้งที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น สิ่งที่ต้องแก้ไขคือการสร้างความชัดเจน กำหนดแนวทางการปฏิบัติ ที่สำคัญ นโยบายและมาตรการของ ศบค. กับ ศบศ. ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันและปฏิบัติได้

บาลานซ์โควิด-แก้วิกฤต เศรษฐกิจ

“คณะกรรมการทั้งสองชุดมีนายกฯเป็นหัวหน้าทั้ง 2 คณะ แต่ถ้าเป็นชุด ศบค. การตัดสินใจยังมอบให้ฝั่งแพทย์ หรือกระทรวงสาธารณสุขชี้ขาด ปัญหาและความยากคือ หมอก็เห็นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเห็นด้วยที่จะทยอยเปิดประเทศในระดับที่สามารถคอนโทรลได้ เช่น มีผู้ติดเชื้อไม่เกินวันละ 200 คน หรือน้อยกว่านั้น อีกกลุ่มไม่ต้องการให้เปิดประเทศ ประกอบกับผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งมีการปรับเปลี่ยน อาจต้องรอดูว่านโยบายจะเป็นอย่างไร จะบาลานซ์มาตรการป้องกันโควิด กับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร”

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตั้ง ศปก.ศบค. คงจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายที่ ศบค.กำหนด ในส่วนเอกชนที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ใน ศบค. แต่อยู่ใน ศบศ.