พิษโควิดฉุด “นครสวรรค์ไบโอ” “KTIS-GGC” จ่อทบทวนแผน-งบลงทุน

นครสวรรค์ไบโอ2

พิษโควิดลากบิ๊กโปรเจ็กต์ “นครสวรรค์ไบโอ” 7,500 ล้านบาท อืด 1 ปีKTIS ถก GGC ผู้ร่วมหุ้นทบทวนแผน-งบประมาณ คาดสรุปในต้นปี 2564 วอนรัฐหนุนสิทธิประโยชน์เทียบเท่า EEC ดัน bioeconomy ด้าน สศอ.ย้ำไม่ทิ้ง ขอเดินหน้าต่อตามนโยบายเดิม

นางดารารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอาจจะต้องพิจารณทบทวนแผนการลงทุนโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ บนพื้นที่ 2,000 ไร่ ใน ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มูลค่าการลงทุน 7,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมทุนกับบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และได้ผ่านการรายงานสิ่งแวดล้อม(EIA) อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 75%

เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศได้ ซึ่งเครื่องจักรต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ต้องนำเข้ามาทั้งหมด ไทยยังไม่สามารถผลิตเองได้ ส่งผลให้โครงการนครสวรรค์ไบโอ ต้องล่าช้าออกไป 1 ปีจากเดิมที่แผนจะสามารถเปิดดำเนินกิจการปลายปี 2563 นี้

“โรงงานประกอบเครื่องจักรในต่างประเทศหลายแห่งยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ แม้จะมีโรงงานในบางประเทศที่สามารถเปิดผลิตเครื่องจักรได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถขนส่งเข้ามาได้”

ล่าสุดทางบริษัทได้มีการหารือกับ GGC ถึงแนวทางการดำเนินการ ซึ่งอาจต้องปรับลดวงเงินลง โดยจะสรุปผลการทบทวนโครงการนี้ในต้นปี 2564

“เรายังไม่ล้มโครงการ แต่เราขอทบทวนเงินลงทุน 7,500 ล้านบาทก่อนทาง GGC เองก็มีความเข้าใจถึงสถานการณ์นี้ที่เกิดขึ้น เราทั้ง 2 จึงจะเดินหน้าต่อ แต่แค่กลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรกับมันต่อ ตอนนี้มีกลุ่มนักลงทุนที่สนใจอยากเข้ามาร่วมทุนกับเราอีก แต่ติดปัญหาที่ทางภาครัฐเหมือนมีนโยบายที่ไม่แน่ชัด ซึ่งรายนี้เขามีเทคโนโลยีที่เก่ง เราบอกไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่ในวงการถ้าพูดถึงเทคโนโลยีด้านชีวภาพก็เป็นอเมริกา”

สำหรับนโยบายการสนับสนุนภาครัฐก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม bioeconomy เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำ จึงได้สิทธิประโยชน์สูงสุดเท่ากับกลุ่ม S-curve ทั่วไป แต่ยังไม่มีสิทธิประโยชน์ที่ออกมาเฉพาะและชัดเจน

“แน่นอนว่ามันไม่พอ เพราะทางเอกชนเคยขอให้รัฐพิจารณาสิทธิประโยชน์พื้นที่ที่กำหนดให้สำหรับอุตสาหกรรม bioeconomy ให้ได้เท่ากับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งรัฐยังไม่พิจารณาให้ และที่สำคัญ คล้ายว่ารัฐจะลดความสำคัญของอุตสาหกรรม bioeconomy ลง เพราะไม่มีการพูดถึง ไม่มีการกระตุ้นไม่มีการหารือกับเอกชนเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากระดับโลกเข้ามา นอกจากนี้ เอกชนยังต้องการให้รัฐสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ให้พร้อม”

“ที่เราต้องดันไบโอเพราะเกี่ยวข้องกับชาวไร่อ้อย ในตอนนี้อ้อยก็น้อยปี 2563/2564 คงไม่ถึง 70 ล้านตันราคาน้ำตาลก็ไม่ดี ชาวไร่ก็ต้องเข้ามาตรการรัฐเรื่องลดการเผา เขาต้องซื้อรถตัดอ้อย ซึ่งเราก็ช่วยชาวไร่ที่เป็นคู่สัญญา ดอกเบี้ยรถตัดอ้อยตอนนี้ก็ถือว่ายังสูงสำหรับเขา ที่เราช่วยได้ตอนนี้คือนอกจากรับซื้ออ้อยเข้าหีบยังรับซื้อใบอ้อยตันละ 800 บาท เข้ามาเพื่อเป็น เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ เอทานอล ไบโอ มันจึงต้องเกิด”

ทั้งนี้ โครงการ “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” หรือ NBC ถือเป็น bio hub แห่งแรกของอาเซียน และไบโอคอมเพล็กซ์แบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ที่ใช้วัตถุดิบจากอ้อย ดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุนระหว่างGGC และ KTIS ในนามบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI ซึ่งเป็นโครงการนำร่องตามนโยบายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ของประเทศ

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ทิ้งนโยบายการผลักดันอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ bioeconomy และยังคง เดินหน้าต่อตามแผนเดิม ส่วนการจะต้องปรับปรุงอะไรใหม่นั้น ต้องหารือกันกับหน่วยงานที่ร่วมกันทำแผน เช่น สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่เพียง bioeconomyอย่างเดียว แต่รัฐยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือนโยบาย BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เศรษฐกิจสีเขียว (green economy)