‘บีโอไอ’ เล็งต่อแพ็กเกจ EV รอบ 2 เดินหน้าคุยยักษ์เทสล่า ดึงลงทุน

บีโอไอ-ev2
Photo : Freepik

เกรทวอลล์รอก่อน “บีโอไอ” เตรียมชงบอร์ดต่ออายุแพ็กเกจหนุนลงทุน EV รอบ 2 ต้นเดือน พ.ย. 2563 คาดคงสิทธิประโยชน์ลดภาษีนิติบุคคลเต็มที่ 8 ปี เพิ่มให้การส่งเสริม “มอเตอร์ไซค์ ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า” ด้าน สศอ.เตรียมคอนเฟอเรนซ์ “เทสล่า” บิ๊กรถยนต์ไฟฟ้าอเมริกา

มาตรการส่งเสริมการลงทุน หรือแพ็กเกจยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือรถ EV ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดออกมาครั้งก่อน ครอบคลุม 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก (HEV) ทุกค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ

2.รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) มีค่ายรถที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 5 ราย คือค่ายเบนซ์เริ่มผลิตแล้วในรุ่น C, E ,S, GLE Class ราคาคันละ 2,700,000 บาท, BMW Series 5, 7, X5 ราคาคันละ 3,000,000 บาท MG โตโยต้า มิตซูบิชิ และ

3.รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) คือ เบนซ์ BMW MINE MG TOYOTA HONDA โดย FOMM เริ่มผลิตแล้ว จำหน่ายราคาประมาณคันละ 660,000 บาท และค่าย BENZ ทดลองนำเข้า

แต่ภายหลังจากสิ้นสุดมาตรการในเดือนธันวาคม 2562 ก็ยังไม่ได้พิจารณาต่ออายุมาตรการ กระทั่งมีนักลงทุนหน้าใหม่อย่าง เกรทวอลล์ จากประเทศจีน กระโดดเข้ามาแจมตลาด เตรียมลงทุนในประเทศไทยทุกรุ่นและวางแผนจะผลิตรถไฟฟ้า 100% โมเดลแรกลงสู่ตลาดในปี 2564 ซึ่งประธานเกรทวอลล์มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนเคยให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการลงทุนถึง 22,600 ล้านบาท จ้างงานกว่า 3,400 คน และใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 45% พร้อมทั้งได้เตรียมเจรจากับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอให้บีโอไอขยายระยะเวลาส่งเสริมเนื่องจากแพ็กเกจลงทุนอีวีหมดไปแล้ว

ชงบอร์ดเพิ่มมอเตอร์ไซค์-ตุ๊กตุ๊ก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุด มาตรการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือรถ EV ได้มีการทบทวนและหารือกันใหม่อีกครั้ง หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นขอมาตรการส่งเสริมทั้งแพ็กเกจ EV ไปแล้วเมื่อปี 2562 เนื่องจากพบว่ามีนักลงทุนอีกหลายรายที่มีนโยบายและมีความพร้อมที่จะลงทุนรถ EV โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) ลงทุนเเบตเตอรี่ สถานีชาร์จมากขึ้น โดยบีโอไอมีแผนจะเสนอแพ็กเกจรถ EV ใหม่เข้าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ในต้นเดือน พ.ย. 2563 นี้

โดยมาตรการใหม่เตรียมเสนอจะยังคงใช้เครื่องมือเรื่องของการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลคงไว้ที่สูงสุด 8 ปี ซึ่งอาจแตกต่างกันในจำนวนปีของแต่ละประเภท (มอเตอร์ไซค์ ตุ๊กตุ๊ก 3 ล้อ รถสาธารณะ) รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนและจะเพิ่มประเภทให้ครอบคลุมไปถึงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊ก 3 ล้อ รวมถึงเรือไฟฟ้า และกำหนดเงื่อนไขชิ้นส่วนที่ต้องเป็นตัวหลักต้องผลิตในประเทศจำนวนกี่ชิ้น อะไรบ้าง

บีโอไอ

ปรับเงื่อนไขหนุน 13 ชิ้นส่วน

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขใหม่ อาจจะใช้โมเดลคล้ายกับ EV ตัวเดิมแต่เข้มข้นขึ้น คือถ้ามีการลงทุนจะต้องมีการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และต้องพัฒนาซัพพลายเออร์ พัฒนาคนเป็นเงื่อนไขที่ต้องควบคู่กันไป โดย EV นั้นจะต้องมีชิ้นส่วนสำคัญ 13 ชิ้น อย่างแพ็กเกจ EV ตัวเดิมกำหนดให้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญ 4 ตัว ส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะมีชิ้นส่วนสำคัญคือมอเตอร์ จำนวนชิ้นอาจจะน้อยกว่ารถยนต์ EV แต่ก็ต้องกำหนดชิ้นส่วนขั้นต่ำเช่นกัน

“จากการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดยานยนต์ไฟฟ้า) ล่าสุดเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการดูฝั่งของดีมานด์ไซด์ ส่วนบีโอไอดูฝั่งซัพพลายการผลิต หารือเอกชนค่ายรถจักรยานยนต์ที่มีความพร้อมในการทำจักรยานยนต์ EV ไปแล้วหลายครั้ง และยืนยันว่าสามารถทำได้”

ทั้งนี้ ในการประชุมบอร์ดยานยนต์ไฟฟ้านั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังคงเดินหน้าเพื่อผลักดันมาตรการนี้ โดยหวังว่าภายใน 5 ปี ไทยจะมีรถ EV คิดเป็น 30% ของปริมาณผลิต 2.5 ล้านคัน ต่อปี หรือ 750,000 คัน จึงยังต้องเร่งสร้างตลาดในประเทศ

โดยระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มจากการส่งเสริมวินสะอาด หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง EV นำร่องก่อน เป้าหมาย 53,000 คัน ในปี 2563-2565 รวมถึงส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศไทยและประชาชนให้เข้าถึง EV (smart city bus) ให้ได้ 5,000 คัน ใน 5 ปีข้างหน้า

ต่อสายเทสล่า

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ด้วยการบริหารจัดการของรัฐบาลที่สามารถคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ดี ล่าสุด สศอ.เตรียมประชุมทางไกลผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์กับทางเทสล่า ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ของอเมริกา หลังจากติดต่อสอบถามถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยและภาพรวมอุตสาหกรรม จึงสะท้อนว่านักลงทุนยังคงให้ความสนใจประเทศไทย

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในไทยหลายรายเข้ามาพัฒนาให้มีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้ โดยเป็นทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามีประมาณ 13 ราย เช่น บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สตาร์ 8 (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอส บี เอ็ม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด บริษัท ลีบอน พลังงานใหม่ จำกัด, บริษัท ไทย คิงมอเตอร์ อินโนเวชั่น จำกัด, บริษัท ไทย ตุ๊ก ตุ๊ก มอเตอร์ จํากัด, บริษัท อาร์เอ็มเอ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท คลีนฟูเอล เอ็นเนอร์ยี่ เอ็นเตอร์ไพรส จำกัด, บริษัท มนตรีมอเตอร์ จำกัด บริษัท พีค เพาเวอร์ มอเตอร์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีทีมอเตอร์กรุ๊ป, บริษัท เอทีอี พลัส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โตโยตรอน มอเตอร์ จำกัด