“ชุมนุมยืดเยื้อ” ฉุดดัชนีสถานการณ์ทางการเมืองต่ำสุดในรอบ 14 ปี 3 เดือน

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย. 2563 ดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สวนทางดัชนีสถานการณ์ทางการเมืองต่ำสุดในรอบ 14 ปี 3 เดือน หลังชุมนุมยืดเยื้อ

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผย ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2563 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปรับตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นมา

เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง” และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ ส่งผลให้กำลังซื้อในหลายจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองไทยหลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในเดือนตุลาคม จนทำให้ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวต่ำสุดในรอบ 171 เดือน หรือ 14 ปี 3 เดือน

และผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบเชิงลบจาก COVID-19

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 45.6 50.0 และ 61.6 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนตุลาคม 2563 ที่อยู่ในระดับ 43.9 49.0 และ 59.9 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 และสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานถดถอยลง ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด

การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับดีขึ้นอีกครั้ง จากระดับ 50.9 เป็น 52.4

อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากปัญหาการเมืองในประเทศและวิกฤต COVID-19 ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 35.1 มาอยู่ที่ 36.3 แสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 58.5 มาอยู่ที่ระดับ 60.1 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะความกังกลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองของไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากได้รับผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกหลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องหลายมาตรการ โดยเฉพาะ โครงการ “คนละครึ่ง”  ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 จนกว่าสถานการณ์ COVID-19 ของโลกจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ว่าสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ซึ่งปัจจัยทั้งสองจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก