กองทุนฟื้นฟู ซื้อหนี้เกษตรกรได้แล้ว “จุรินทร์” เบียดซีนอุ้มรากหญ้า

“จุรินทร์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุยแก้หนี้เกษตรกรครบวงจร ทั้งยืดเวลาชำระเงินต้นกรณีประสบภัยพิบัติ ควักเงินกองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหนี้ค้ำประกัน 1.3 แสนราย ชง ครม.อนุมัติงบแก้หนี้-ฟื้นฟูเกษตรกร

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้หารือถึงเรื่องแนวทางการเข้าช่วยเหลือแก้หนี้เกษตรกร ให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟูให้เกษตรกรกลับมายืนอยู่ได้โดยไม่กลับไปสู่วงจรหนี้

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รวมถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟู ฯให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขให้กองทุนฯสามารถเข้าไปซื้อหนี้เกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ จากเดิมที่ไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติ ในเรื่องสำคัญ ๆ ได้แก่

1. เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ให้คณะกรรมการบริหารหรือเลขาธิการกองทุน มีอำนาจผ่อนผันหรือขยายเวลาการใช้คืนเงินต้นได้หากเป็นกรณีที่เกษตรกรประสบเหตุภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรือเหตุสุดวิสัย

2. เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการจัดการหนี้ สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเก็บค่าเช่าซื้อ หรือระยะเวลาการเช่าซื้อ ให้แก่เกษตรกรในกรณีที่เกษตรประสบหรือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยพิบัติอื่น ๆ

3. เห็นชอบให้ดำเนินการจัดการหนี้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้และผ่านการเห็นชอบจากอนุกรรมการจังหวัด จำนวน 3,648 ราย และเกษตรกรที่เป็นหนี้ NPA (หลักทรัพย์ประกันที่เจ้าหนี้ขายทอดตลาด) จำนวน 314 ราย

4. เห็นชอบให้เสนอ ครม. พิจารณาการขยายกรอบวงเงินซื้อทรัพย์สินรอการขายทอดตลาด (NPA) และชำระหนี้เสีย (NPL) คงเหลือ จากเดิมไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท เป็นไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องตามมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2552 และ 2555 ที่ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปแก้หนี้แก้เกษตรกร จำนวนรวม 4,083 ราย แต่ด้วยการดำเนินงานที่ล่าช้า กอปรกับมีปัจจัยอื่นที่เป็นอุปสรรค จนทำให้กองทุนฯ ไม่สามารถช่วยเหลือให้เกษตรกรเหล่านี้ให้รักษาที่ทำกินไว้ได้

รัชดา ธนาดิเรก

“พิจารณาอนุมัติงบกลาง เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูเกษตรกร เพิ่มเติมจากงบของกองทุนฯ ที่จัดสรรไว้แล้ว 2,055 ล้านบาท

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่พอกพูนจนถึงระดับที่ทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟู เป็นเป้าหมายของคณะกรรมการกองทุน ซึ่งที่ผ่านมา ยังคงมีเกษตรกรจำนวนมากที่แม้จะขึ้นทะเบียนกับกองทุนฯแล้ว แต่กองทุนฯก็ยังไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทั้งหมด เนื่องด้วยข้อจำกัดทั้งที่เป็นระเบียบ และงบประมาณ รองนายกฯจุรินทร์ จึงได้สั่งการให้แก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ และเร่งดำเนินการวางแผนแก้หนี้และฟื้นฟูทั้งหมด

ทั้งนี้ จากการที่ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ปรับแก้ ให้อำนาจกองทุนฯเข้าไปซื้อหนี้ประเภทบุคคลค้ำประกันได้ จะทำให้เกษตรกรจำนวน 1.29 แสนราย ได้รับการช่วยเหลือ อีกทั้งมติฯที่ให้อำนาจสำนักงานกองทุนฯ ผ่อนผันหรือขยายเวลาการชำระคืนเงินต้น จะเป็นการต่อลมหายใจบรรเทาภาระของเกษตรจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม 2 หมื่นกว่าราย”