“บิ๊กป้อม” ชง 5 โปรเจ็กต์น้ำเสนอนายกฯ ลุ้นไฟเขียวขุดคลองระบายน้ำหลาก

“บิ๊กป้อม” ชง 5 โปรเจ็กต์น้ำเสนอนายก ลุ้นไฟเขียวขุดคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย

รองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหัวโต๊ะเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 เรื่องใหญ่ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน แก้ปัญหาลุ่มน้ำท่าจีน สร้างธนาคารน้ำใต้ดิน พร้อมไฟเขียว 19 โครงการของ กปภ. แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของเมืองพัทยา พัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง ไฟเขียวแผนหลักบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย เสนอ กนช. 28 ธ.ค.นี้

วันที่ 24 ธ.ค. 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2563 ว่า การประชุมในวันนี้ได้ให้หน่วยงานร่วมพิจารณาให้ความเห็นต่อแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ที่นำเสนอให้ครอบคลุมในเชิงพื้นที่ มีเป้าหมายชัดเจน มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อน

ทำให้สามารถพิจารณาจัดลำดับการทำงานของหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะแผนงานที่ต้องบูรณาการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน สำหรับการขับเคลื่อนงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้คณะทำงานทั้ง 6 ด้าน

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

หากพบว่ามีปัญหาอุปสรรค ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้หน่วยงานร่วมกันพิจารณาและเสนอแนวทางเพื่อปรับปรุงเป้าหมายและตัวชี้วัดให้เหมาะสม เพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการเพื่อขับเคลื่อนแผนงานที่สำคัญ 5 เรื่อง ก่อนที่จะเสนอ กนช. เพื่อพิจารณา ประกอบด้วย

1.การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย กรอบแนวทางการดำเนินงานการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน และการพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภคให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การดำเนินการจัดทำข้อมูลเชิงนโยบาย ตลอดแนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำลุ่มน้ำท่าจีนโดยกรมควบคุมมลพิษ การจัดทำคู่มือการเติมน้ำใต้ดิน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งยังเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายในการจัดทำแผนปฏิบัติการ จำนวน 2,800 ตำบล และพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน เพื่อเสนอของบกลางปี 2564 เพิ่มเติม จำนวน 1,713 ตำบลด้วย

2.โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำนวน 19 โครงการ 3.แผนแก้ไขน้ำท่วมซ้ำซากพัทยา

4.แผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ที่ประชุมเห็นชอบตามที่ สทนช. และกรมชลประทานเสนอ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตร และสร้างหลักประกันให้เกษตกรสามารถเพาะปลูกได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นสำคัญ

5.หลักการของแผนงานบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กรมชลประทานเสนอ และให้เร่งปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก และคลองชัยนาท-ป่าสัก 2 พร้อมจัดลำดับความสำคัญแผนงานและงบประมาณ รวมทั้งจัดที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยที่รุกล้ำเขตคลอง

ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก กลุ่ม 2 การบริหารจัดการพื้นที่ ได้แก่ การบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ พื้นที่รับน้ำนอง และกลุ่ม 3 การสร้างคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ ได้แก่ คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย และหากต้องการยกระดับเชิงป้องกันให้สูงขึ้น ก็อาจจะต้องศึกษาคลองระบายน้ำที่ควบคู่กับถนนนวงแหวนรอบที่ 3

“28 ธ.ค.นี้ จะประชุม กนช. 5 แผน ซึ่งรัฐบาลเน้นการใช้น้ำประปา-น้ำบาดาล มากขึ้น เพราะฉะนั้นปี 2564 ยังมีพื้นที่เหมาะสมขอให้หน่วยงานเสนองบกลางเข้ามา รวมทั้งแผนแม่น้ำสาขาเชื่อมแม่น้ำโขง ปิดปากน้ำเชื่อมเข้ามาและสามารถดึงน้ำมาใช้ฤดูแล้งต่อเนื่องลุ่มน้ำชี ได้อนุมัติไปแล้ว 21,000 ล้านบาท และแผนลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้ปีนี้ไม่ท่วม โครงการคลองระบายน้ำเชื่อมชัยนาท-ป่าสัก และป่าสัก-อ่าวไทย ตอนนี้ได้ศึกษาร่วมไจก้าเรียบร้อยแล้ว แม้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานถึง 10 ปี ต้องเร่งรัดให้เกิดขึ้นโดยเร็วก่อน เพื่อรองรับน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังเร่งรัดงานสำคัญ คือดึงการวิจัยแผนน้ำภาคตะวันออก มาปรับใช้โดยเร็วด้วย”