จับตาอียู-ยูเค หลังบรรลุ BREXIT คาดยังเจรจาเพิ่ม ไทยหวังส่งออกโต

สนค.ชี้หลังอียู-ยูเค การบรรลุข้อตกลง BREXIT ได้มีผลไปในทิศทางที่ดี แต่เชื่อว่าน่าจะยังคงมีการเจรจาเพิ่ม เนื่องจากยังไม่เข้าถึงการค้าและบริการระหว่างกันมาก ด้านไทยคาดได้ประโยชน์ส่งออกเพิ่มจากภาษีลดลง อาทิ ไก่แปรรูป ถุงมือยาง รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยสถานการณ์เบร็กซิตว่า ตามที่สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (อียู) ได้บรรลุข้อตกลงการค้าและความร่วมมือ (EU-UK Trade and Cooperation Agreement) ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 และสองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงการค้าฯ แล้วนั้น

ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการให้สัตยาบันจากรัฐสภายุโรป ซึ่งคาดว่าจะประชุมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในส่วนของสหราชอาณาจักรได้ให้สัตยาบันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ข้อตกลงการค้าฯ ทำให้สหราชอาณาจักรกับอียูสามารถทำการค้า โดยไม่มีภาษีศุลกากรและไม่มีโควตาระหว่างกันต่อไปได้ (Zero Tariff & Zero Quota)

พิมพ์ชนก วอนขอพร

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกจะเผชิญกับพิธีการทางศุลกากรที่ซับซ้อนขึ้น โดยด่านตรวจสินค้าที่พรมแดน เช่น ที่ท่าเรือกาเลส์ และท่าเรือโดเวอร์ ซึ่งเป็นพรมแดนอังกฤษ-ฝรั่งเศส มีข้อกำหนดเรื่องใบขนสินค้าขาเข้าและขาออก ใบรับรองสุขอนามัยอาหาร ซึ่งทำให้ต้นทุนการซื้อขายเพิ่มขึ้นถาวรเมื่อเทียบกับก่อนเบร็กซิต อีกทั้งมีความเสี่ยงในการดำเนินการในระยะสั้น ในช่วงระหว่างรอการให้สัตยาบันของรัฐสภายุโรป ที่อาจมีปัญหาการชะงักงันในการดำเนินการพิธีการศุลกากรและด่านตรวจสินค้าที่พรมแดน

ด้วยการเจรจาและการกลั่นกรองข้อตกลงการค้าฯ ที่ดำเนินการในระยะเวลาอันสั้น คาดว่าอาจต้องมีการเจรจาปรับปรุงรายละเอียดของข้อตกลงการค้าฯ เพิ่มเติมอีกครั้ง อาทิ ข้อตกลงสำหรับธุรกิจบริการ รวมถึงบริการทางการเงินยังไม่มีความชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่อง “การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน” และยังไม่มีข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัติของนักวิชาชีพต่าง ๆ ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 สหราชอาณาจักรจะไม่สามารถเข้าถึงตลาดภาคบริการของอียูได้ดังเดิม

เช่น ธนาคารและสถาบันการเงินของสหราชอาณาจักรจะสูญเสียใบอนุญาตประกอบกิจการในอียู ต้องระงับการให้บริการลูกค้าในอียูเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะขอใบอนุญาตใหม่ได้ นอกจากนี้ แพทย์ พยาบาล สถาปนิก ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานข้ามพรมแดน จึงคาดว่าสหราชอาณาจักรและอียูยังคงต้องเจรจากันในเรื่องนี้เพิ่มเติมในช่วงปี 2564

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวอีกว่า นักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้กรุ๊ปประเมินว่า จีดีพีของสหราชอาณาจักรจะลดลงร้อยละ 2.0 – 2.5 ในปี 2564 เมื่อเทียบกับการอยู่กับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม การมีข้อตกลงการค้าฯ เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ช่วยลดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา พบว่า ความไม่แน่นอนของเบร็กซิตส่งผลให้บริษัทในสหราชอาณาจักรชะลอการลงทุนและการจ้างงาน

ขณะที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics) ประเมินว่าในระยะยาว เคมีภัณฑ์ เหมืองแร่ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่เป็นสินค้าสำคัญในอันดับต้น ๆ ของสหราชอาณาจักรจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเบร็กซิต นอกจากนี้ ธุรกิจที่สามารถทำได้ดีท่ามกลางการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจแบบ B2B จะเป็นสาขาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากข้อจำกัดทางการค้าใหม่ ๆ

ในส่วนขององค์กรวิจัยของรัฐบาลสหราชอาณาจักรคาดว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจของเบร็กซิตจะสูงกว่าต้นทุนของโควิด-19 อยู่มาก แม้ว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศในระดับสูง โดยส่งผลให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหดตัวราวร้อยละ 20 ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ผลกระทบจากเบร็กซิตที่ทำให้การค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงานลดลง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมากและกินเวลายาวนาน

สำหรับอัตราภาษีนำเข้าของสหราชอาณาจักรหลังเบร็กซิท หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2564 ผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหราชอาณาจักรจากประเทศที่ไม่มีข้อตกลงทางการค้า จะต้องใช้อัตราภาษีนำเข้าของสหราชอาณาจักร (UK Global Tariff : UKGT) แทนอัตราภาษีภายใต้กรอบเดิมของอียู (Common External Tariff : EU CET) เป็นครั้งแรกในรอบ 50 กว่าปี

โดยอัตราภาษี UKGT สหราชอาณาจักรได้พิจารณาปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศ สนับสนุนธุรกิจในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งสหราชอาณาจักรได้ลดอัตราภาษีแก่สินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในครัวเรือน สินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน และสินค้าที่สหราชอาณาจักรไม่สามารถผลิตได้เอง รวมถึงสินค้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว (เช่น ขวดสุญญากาศ หลอดไฟ LED เป็นต้น) นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังได้ยกเว้นอัตราภาษีนำเข้าชั่วคราวแก่สินค้ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้ป้องกันโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์จากโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ของสหราชอาณาจักร เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น (Fair Competition) และทำให้เกิดการค้ากันมากขึ้น (Trade Creation) สินค้าไทยจะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีใหม่ของสหราชอาณาจักรที่มีการยกเว้นอัตราภาษี เพิ่มขึ้นจำนวน 732 รายการ จากตารางภาษีเดิมของอียูที่ยกเว้นอัตราภาษีจำนวน 792 รายการ ทำให้สินค้าไทยได้รับการยกเว้นอัตราภาษีทั้งหมด 1,524 รายการ สินค้าสำคัญที่ UK นำเข้าจากไทยและได้ประโยชน์จากภาษีนำเข้าที่ลดลง ได้แก่ ไก่แปรรูป ถุงมือยาง รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย ซอสปรุงรส อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อการเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้า (FTA) ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร โดยมีการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการจัดทำ FTA กับสหราชอาณาจักร เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจรจาในอนาคต ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรมีเป้าหมายจะมุ่งหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมร้อยละ 80 ของสัดส่วนการค้าทั้งหมด ภายในระยะเวลา 3 ปี ตามนโยบายมุ่งสู่ภูมิภาคเอเชีย All of Asia

ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้ไทยเป็นเป้าหมายดึงดูดการทำข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญ ถ้าหากไทยบรรลุข้อตกลง FTA กับสหราชอาณาจักร จะทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเทียบกับคู่แข่ง เกิดการสร้างการค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อัญมณี เครื่องเงิน เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 11 เดือนแรกของปี 2563 สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออก อันดับที่ 20 ของไทย (เปรียบเทียบในภูมิภาคยุโรป รองจากสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี) มีมูลค่าการส่งออก 2,828 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.3 ของการส่งออกทั้งหมด หดตัวร้อยละ 20.8 ไทยนำเข้าจากสหราชอาณาจักร มูลค่า 1,643 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 26.7 และเกินดุลการค้ามูลค่า 1,185 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกินดุลการค้าลดลงร้อยละ 10.8