โอกาสทองสินค้าปศุสัตว์ เกษตรลดค่าธรรมเนียม ยกเว้นใบอนุญาตนำเข้าส่งออก

ผู้ส่งออกมีเฮ! เกษตรฯ ลุย ขยายตลาด “เฉลิมชัย” เร่งเครื่องนโยบายสร้างรายได้ลดต้นทุนหนุนส่งออก ยกเว้น ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าส่งออกสัตว์และซากสัตว์ดันปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลก

วันที่ 4 ก.พ. 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการส่งออกด้านปศุสัตว์กับต่างประเทศ กระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้มีการปรับปรุงกฎกระทรวง เรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2559 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีจนมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อลดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านการปศุสัตว์​

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ ครม.เห็นชอบกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้

​1.กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ประเภทแพะ แกะ เข้ามาในราชอาณาจักร ตัวละ 25 บาท (เดิมตัวละ 250 บาท)

​2.กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ประเภทแพะ แกะ ออกนอกราชอาณาจักร ตัวละ 20 บาท (เดิมตัวละ 200 บาท)

​3.กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร ประเภทจิ้งหรีด กิโลกรัมละ 3 บาท (เดิมกิโลกรัมละ 5 บาท)

​4.กำหนดค่าที่พักซากสัตว์ที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ประเภทจิ้งหรีด กิโลกรัมละ 2 บาท (เดิมกิโลกรัมละ 5 บาท)

5.ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ประเภท ม้า โค กระบือ แพะ แกะ ที่นำออกนอกราชอาณาจักรโดยผ่านด่านศุลกากรบูเก๊ะตา

6.ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ผ่านราชอาณาจักรทางอากาศยานประเภทสุนัข แมว ไก่ เป็ด ห่าน สัตว์ปีกชนิดอื่น หรือไข่สำหรับใช้ทำพันธุ์ เฉพาะกรณีที่สัตว์นั้นยังอยู่ในเขตปลอดอากร จนกระทั่งมีการเปลี่ยนถ่ายอากาศยานแล้วขนส่งผ่านออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง

​7.ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์ผ่านราชอาณาจักรทางอากาศยาน กรณีที่ไม่มีการเปิดตรวจตู้สินค้าหรือแบ่งถ่ายโอนสินค้า และยังอยู่ในเขตปลอดอากรจนกระทั่งมีการเปลี่ยนถ่ายอากาศยานแล้วขนส่งผ่านออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ใหม่ ที่กระทรวงเกษตรฯ ยกร่างแก้ไขครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับใหม่ทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมขีดความสามารถด้านการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยไปยังต่างประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับจิ้งหรีดซึ่งเป็นอาหารใหม่ประเภทโปรตีนทางเลือกใหม่นั้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบายให้ประเทศไทยเป็นฮับแหล่งผลิตแมลงของโลกโดยเน้นการพัฒนาการผลิตการแปรรูปและการตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทั้งฟาร์มจิ้งหรีด, อุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) และการสนับสนุนสตาร์ตอัพเกษตรตั้งเป้าหมายเจาะตลาดโลกมูลค่า 3 หมื่นล้าน

โดยนโยบายและเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ส่งเสริมให้คนทั่วโลกบริโภคจิ้งหรีดกันมากขึ้น เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มีราคาถูก โปรตีนจากแมลงจัดเป็นซูเปอร์ฟู้ด (Super Food) และเป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่ต้องยกระดับมาตรฐานการผลิตการแปรรูปและการตลาด รวมทั้งส่งเสริมสตาร์ตอัพไทย

ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีแมลง” ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC:Agritech and Innovation Center) โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับอีกอย่างน้อย 4 มหาวิทยาลัย

ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ กระบวนการผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งแบบสด แช่แข็ง ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมถึงทำเป็นผงบด เพื่อเป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่ และแปรรูปเป็นแป้งจำพวกเส้นพาสต้า โปรตีนบาร์ ผงแป้ง ขนมขบเคี้ยว และ protein shakes

ซึ่งกลุ่มประเทศ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา เอเชียตะวันออก ละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างให้ความสนใจต่อการบริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งตลาดส่งออกไทยไปต่างประเทศได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็วเติบโตถึงร้อยละ 23 ต่อปี โดยเฉพาะ สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน